ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ภาวะสุขภาพ ความกลัวการหกล้ม และ พฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน

Main Article Content

ทิพย์รัตน์ ผลอินทร์
นารีรัตน์ จิตรมนตรี
วิราพรรณ วิโรจน์รัตน์

Abstract

วัตถุประสงค์: 1) ศึกษาพฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน 2)เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ภาวะสุขภาพ ความกลัวการหกล้ม และพฤติกรรมป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุที่อาศัยในชุมชน

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุที่มีประวัติเคยหกล้มในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา  อาศัยอยู่ในชุมชน เขตปทุมวัน คัดเลือกด้วยวิธีการเลือกตามสะดวก จำนวน 130 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับ ปัจจัยส่วนบุคคล ภาวะสุขภาพ ความกลัวการหกล้ม และพฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .86, .90 และ .82 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์สเปียร์แมน

ผลการวิจัย: 1) ผู้สูงอายุในชุมชนที่ศึกษาส่วนใหญ่มีพฤติกรรมป้องกันการหกล้มในระดับสูง และยังพบพฤติกรรมซึ่งอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุหกล้มจากปัจจัยภายใน คือ ขาดการออกกำลังกาย จากปัจจัยภายนอก คือ ขาดการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเครื่องเรือน เครื่องใช้ภายในบ้าน 2) อายุ และความกลัวการหกล้ม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.179, p < 0.05, และ r = 0.408, p < 0.01)  อย่างไรก็ตาม การศึกษา อาชีพ รายได้ และภาวะสุขภาพ ไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมป้องกันการหกล้ม

สรุป: พยาบาลควรส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุตั้งแต่ผู้สูงอายุวัยต้นโดยมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการออกกำลังกาย และการสำรวจสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญในการประเมินความกลัวการหกล้ม เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ

Article Details

Section
Research articles