ผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัดต่อความวิตกกังวลของผู้ดูแลในครอบครัวในระหว่างรอผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกสมอง

Main Article Content

สมรพรรรณ ไตรภูธร
สุรีพร ธนศิลป์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบระดับความวิตกกังวลของผู้ดูแลในครอบครัวของผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกสมองระหว่างกลุ่มเปรียบเทียบและกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมทันทีและหลังได้รับโปรแกรม 1 วัน

แบบแผนงานวิจัย: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้ดูแลในครอบครัวที่มารอผู้ป่วยทำผ่าตัดเนื้องอกสมอง หน่วยงานห้องผ่าตัด สถาบันประสาทวิทยา จำนวน 40 คน กลุ่มตัวอย่าง 20 คนแรกจัดเข้าเป็นกลุ่มเปรียบเทียบ 20 คนหลังจัดเป็นกลุ่มทดลอง กลุ่มเปรียบเทียบได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลขณะผ่าตัด ในขณะที่กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัด เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ โปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัด เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดความวิตกกังวล มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ .86 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที

ผลการวิจัย:

1)        ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลภายหลังได้รับโปรแกรมทันทีของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05)

2)        ค่าเฉลี่ยคะแนนความวิตกกังวลภายหลังได้รับโปรแกรม 1 วัน ของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบไม่แตกต่างกัน (p > .05)

สรุป: โปรแกรมการให้ข้อมูลร่วมกับสุคนธบำบัดสามารถลดความวิตกกังวลของผู้ดูแลในครอบครัวขณะรอผู้ป่วยทำผ่าตัดเนื้องอกสมองหลังได้รับโปรแกรมทันที แต่ไม่สามารถลดความวิตกกังวลได้ในระยะหลังผ่าตัด

Article Details

Section
Research articles