ปัจจัยทำนายการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างผู้ปกครองและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

Main Article Content

ปัฐมาพร กลับทับลังค์
รุจา ภู่ไพบูลย์
ชื่นฤดี คงศักดิ์ตระกูล

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างผู้ปกครองกับบุตรในเรื่องวิธีการสื่อสาร ความถี่ในการสื่อสาร และศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศระหว่างผู้ปกครองกับบุตร

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยความสัมพันธ์เชิงทำนาย

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ปกครองที่มีบุตรกำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 355 คน คัดเลือกโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล การสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ความสามารถของตนเอง เจตคติ และพฤติกรรมการสื่อสารเรื่องเพศ โดยแบบสอบถามมีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 1, .90, .87, .83 ตามลำดับ มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .86, .93, .70, .92 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณาและการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นพหุคูณแบบขั้นตอน

ผลการวิจัย:  วิธีการสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรที่ผู้ปกครองใช้เป็นอันดับแรกคือ การพูดคุยโดยตรง อันดับสองรองลงมา คือ การยกตัวอย่าง ส่วนการสื่อสารเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมตามเพศ จะใช้วิธีพูดคุยโดยตรงเป็นอันดับแรก และอันดับรองลงมาใช้วิธีห้ามปราม    ปัจจัยที่สามารถทำนายการสื่อสารเรื่องเพศได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ประกอบด้วย ระดับการศึกษา การสนับสนุนข้อมูลข่าวสาร การรับรู้ความสามารถ  เจตคติของผู้ปกครอง  โดยสามารถอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 19.6 ทั้งนี้ปัจจัยที่ไม่สามารถทำนายการสื่อสารเรื่องเพศได้ คือ อายุของผู้ปกครอง เพศของผู้ปกครอง เพศของบุตร

สรุป:  พยาบาลควรสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ปกครองรับรู้ความสามารถของตนเองในการสื่อสารเรื่องเพศมากขึ้น  ควรให้ข้อมูลข่าวสารและเสริมสร้างเจคติที่ดีในเรื่องเพศ แก่ผู้ปกครอง  เพื่อให้ผู้ปกครองสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรมากขึ้น และหาวิธีการให้ผู้ปกครองที่มีการศึกษาสูงสื่อสารเรื่องเพศกับบุตรมากขึ้น

Article Details

Section
Research articles