ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภาษาในเด็กวัยเตาะแตะ

Main Article Content

วรรณศิริ พรมวิชัย
นุจรี ไชยมงคล
ยุนี พงศ์จตุรวิทย์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภาษาในเด็กวัยเตาะแตะ

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนาย

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเลือกโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน คือ ผู้ปกครองที่นำเด็กวัยเตาะแตะมารับบริการที่คลินิกเด็กดีในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดชลบุรี จำนวน 97 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 เครื่องมือวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามพื้นอารมณ์ของเด็ก และแบบคัดกรองพัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยเตาะแตะ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา การทดสอบไค-สแควร์ และการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกทวิ

ผลการวิจัย: เพศของเด็ก (ชาย) และจำนวนชั่วโมงเฉลี่ยที่เด็กดูโทรทัศน์ วีดิทัศน์ หรือเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางภาษาล่าช้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (c2= 18.50, p < .001 และ c2= 6.48, p < .05) เด็กชายมีโอกาสพัฒนาการทางภาษาสงสัยล่าช้าเป็น .14 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กหญิงในวัยเดียวกัน (OR = .139, CI = .054 - .358) และเด็กวัยเตาะแตะที่ดูโทรทัศน์ วีดิทัศน์ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป มีพัฒนาการทางภาษาสงสัยล่าช้าเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่เด็กดูโทรทัศน์ วีดิทัศน์ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน (OR = 2.987, CI = 1.270 - 7.023)

สรุป: การที่เด็กวัยเตาะแตะดูโทรทัศน์ วีดิทัศน์ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย มีโอกาสพัฒนาการทางภาษาล่าช้า พยาบาลและผู้มีหน้าที่ดูแลสุขภาพเด็กควรให้คำแนะนำผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเพื่อควบคุมจำนวนชั่วโมงในการดูโทรทัศน์ วีดิทัศน์ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ในเด็ก เพื่อให้เด็กวัยเตาะแตะมีพัฒนาการทางภาษาเหมาะสม

Article Details

Section
Research articles