ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมสุขภาพ ความเสี่ยงทางสุขภาพ กับสุขภาวะของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับสุขภาวะของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมสุขภาพ ความเสี่ยงทางสุขภาพ กับสุขภาวะของพยาบาลประจำการ ตลอดจนศึกษาตัวแปรที่สามารถร่วมกันพยากรณ์สุขภาวะ ของพยาบาลประจำการ กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลประจำการที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร มีขนาดเตียงตั้งแต่ 200 เตียงขึ้นไป จำนวน 395 คน เลือกโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมสุขภาพ ความเสี่ยงทางสุขภาพ และสุขภาวะของพยาบาลประจำการ แบบสอบถามทั้งหมดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และวิเคราะห์ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพ ความเสี่ยงทางสุขภาพ และสุขภาวะ ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาเท่ากับ .95, .84, และ .93 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน การวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลวิจัยสรุปได้ดังนี้
ผลวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. สุขภาวะของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับดี (= 3.74, SD = 0.47)
2. พฤติกรรมสุขภาพ อายุ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .580, และ .277 ตามลำดับ, p< .05) ความเสี่ยงทางสุขภาพ มีความสัมพันธ์ทางลบกับสุขภาวะของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.401, p< .05)
3. ตัวแปรพยากรณ์ที่สามารถร่วมกันพยากรณ์สุขภาวะของพยาบาลประจำการ โรงพยาบาลเอกชน เขตกรุงเทพมหานคร ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ พฤติกรรมสุขภาพ และความเสี่ยงทางสุขภาพ สามารถร่วมกันพยากรณ์ได้ร้อยละ 34.10 (R2 = .341)
สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐาน
สุขภาวะ = .530 พฤติกรรมสุขภาพ + -.083 ความเสี่ยงทางสุขภาพ
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์