ผลของการให้ข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัย ร่วมกับการมีส่วนร่วมของมารดาต่อความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัย ร่วมกับการมีส่วนร่วมของมารดากับกลุ่มที่ได้รับข้อมูลตามปกติ กลุ่มตัวอย่าง คือผู้ป่วยเด็กวัยก่อนเรียนอายุ 3-6 ปี ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่ต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำครั้งแรก จำนวน 40 คน จัดเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 20 คน โดยการสุ่มและจับคู่ด้วยอายุ (Matched pair) กลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัย ร่วมกับการมีส่วนร่วมของมารดา ซึ่งประกอบด้วยการที่พยาบาลเล่านิทานเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำให้ผู้ป่วยเด็กฟัง โดยพยาบาลใช้อุปกรณ์การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำประกอบการเล่านิทาน มารดาซึ่งนั่งฟังนิทานร่วมด้วยคอยกระตุ้นให้เด็กสนใจนิทานและสัมผัสอุปกรณ์การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและสาธิตวิธีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่เด็ก ความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน ประเมินได้จากแบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำของเด็กวัยก่อนเรียน มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหา เท่ากับ .90 และค่าความเที่ยงของการสังเกต เท่ากับ .94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติทดสอบที และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางชนิดวัดซ้ำ กำหนดระดับนัยสำคัญที่ระดับ .05
ผลการวิจัยพบว่า เด็กวัยก่อนเรียนกลุ่มที่ได้รับข้อมูลแบบรูปธรรม-ปรนัย ร่วมกับการมีส่วนร่วมของมารดามีความกลัวการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำน้อยกว่าเด็กวัยก่อนเรียนกลุ่มที่ได้รับข้อมูลตามปกติ อย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์