ปัจจัยทำนายการปรับตัวในชีวิตสมรสของสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น

Main Article Content

รุ่งทิพย์ กาศักดิ์
เยาวลักษณ์ เสรีเสถียร
ยุพา จิ๋วพัฒนกุล

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์และปัจจัยทำนายการปรับตัวในชีวิตสมรสของสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบความสัมพันธ์เชิงทำนาย

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น ครรภ์แรก อายุระหว่าง 10-19 ปี ที่อาศัยอยู่กับสามี มารับบริการฝากครรภ์ที่หน่วยฝากครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 145 ราย  รวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนทางสังคม  และแบบสอบถามการปรับตัวในชีวิตสมรส  ตรวจสอบความเที่ยงของแบบสอบถามทั้งสามด้วยการหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าเท่ากับ .76, .82 และ .78 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สถิติอีต้า สถิติสหสัมพันธ์สเปียร์แมน  สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน 

ผลการวิจัย: 1) สตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นมีการปรับตัวในชีวิตสมรสอยู่ในระดับปานกลาง (= 64.86, SD= 13.36)

                  2) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวในชีวิตสมรสในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง (r =  .357) การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม (r =  .349) และความเพียงพอของรายได้ครอบครัว (η =  .303) ทั้งนี้ อายุ ระดับการศึกษา และลักษณะครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์กับการปรับตัวในชีวิตสมรส (r =  .036 , r = .012 และ η= .005 ตามลำดับ)  

                   3) ปัจจัยทำนายการปรับตัวในชีวิตสมรสในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ( β = .275) การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม ( β  = .264) และความเพียงพอของรายได้ครอบครัว   (β = .254)  โดยสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของการปรับตัวในชีวิตสมรสในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นได้ร้อยละ 26.8 (R2  =.268) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05

สรุป:  ปัจจัยทำนายการปรับตัวในชีวิตสมรสในสตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น คือ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  การรับรู้การสนับสนุนทางสังคม และความเพียงพอของรายได้ครอบครัว โดยสามารถทำนายได้ร้อยละ 26.8 ดังนั้น จึงควรจัดโปรแกรมที่ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง จัดหาหรือแนะนำแหล่งสนับสนุนทางสังคมให้แก่สตรีตั้งครรภ์วัยรุ่น เพื่อให้สตรีตั้งครรภ์วัยรุ่นปรับตัวในชีวิตสมรสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

Section
Research articles