ผลของการใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต่อความพึงพอใจในบริการของผู้ป่วยและการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลของพยาบาลประจำการ
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจในบริการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ และเปรียบเทียบการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลของพยาบาลประจำการระหว่างกลุ่มที่ใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีกับกลุ่มที่ใช้การดูแลตามปกติ
รูปแบบการวิจัย: แบบกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำนวน 60 คน และพยาบาลประจำการ หอผู้ป่วยศัลยกรรมทั่วไปหญิง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการอบรม แผนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และคู่มือการจัดการผู้ป่วยรายกรณี เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจในบริการของผู้ป่วย และแบบสอบถามการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาล เครื่องมือทั้งหมดได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ แบบสอบถามมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .95 และ .96 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบสถิติที และการทดสอบ Wilcoxon Rank Sum Test
ผลการวิจัย:
1) ค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจในบริการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี (= 4.38) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ (= 3.37) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับที่ .05
2) ค่าเฉลี่ยลำดับที่ของคะแนนการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลของพยาบาลประจำการที่ใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี (= 4.74) สูงกว่ากลุ่มที่ใช้การดูแลตามปกติ (= 4.01) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุป: รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีความพึงพอใจในบริการและพยาบาลประจำการมีการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลมากขึ้นArticle Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์