ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

Main Article Content

มลฤดี ชาตรีเวโรจน์
รุ้งระวี นาวีเจริญ

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

รูปแบบการวิจัย:  การวิจัยแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อายุ 20-59 ปี จำนวน 140 คน ซึ่งมารับการรักษาที่คลินิกจอประสาทตา โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบสอบถามคุณภาพชีวิต แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม แบบสอบถามความวิตกกังวล และแบบสอบถามการจัดการตนเองของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา แบบสอบถามทั้งหมดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .90, .90, .90 และ .71 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบอีต้า สเปียร์แมน และเพียร์สัน

ผลการวิจัย:   

1. คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอยู่ในระดับดีมาก ( = 3.52, SD = 0.71)

2. เพศและอายุไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (p > .05)

3. การมีภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05(h = .52)

4. ระดับการมองเห็น ระดับความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา และความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.44, r = -.37 และ r = -.79 ตามลำดับ)

5. การสนับสนุนทางสังคมและการจัดการตนเองที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05(r = 0.72 และ r = 0.53 ตามลำดับ)

สรุป: พยาบาลควรคำนึงถึงปัจจัยด้าน ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังโรคเบาหวาน ระดับการมองเห็น ระดับความรุนแรงของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคม และการจัดการตนเองที่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน ในการวางแผนจัดกิจกรรมการพยาบาลให้แก่ผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยต่อไป

Article Details

Section
Research articles