ผลของโปรแกรมการสอนแนะต่อพฤติกรรมมารดาในการป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับนมมารดาไม่เพียงพอในทารกแรกเกิดครบกำหนด

Main Article Content

สุนทรี มอญทวี
รัตน์ศิริ ทาโต

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมมารดาในการป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับนมมารดาไม่เพียงพอ ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนแนะกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติ

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ทารกแรกเกิดครบกำหนดที่มีภาวะสุขภาพดี จากการวินิจฉัยของแพทย์ น้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 2,500 กรัม และมารดาทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนด คลอดปกติ มีอายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์ ถึง 42 สัปดาห์ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 20 คู่ โดยจับคู่ในด้าน ประสบการณ์การเลี้ยงดูทารกตัวเหลือง การสนับสนุนทางสังคม และระดับการศึกษา กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสอนแนะ ตามแนวคิดการสอนแนะของ Helfer andWilson (1982) ที่ประกอบด้วยคู่มือแนวทางการดำเนินกิจกรรมการดูแลทารกแรกเกิดในการป้องกันภาวะตัวเหลือง ภาพพลิก และแผนการสอน เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้ แบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับนมมารดาไม่เพียงพอ ที่ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 คน มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ .91 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบที (Independent t-test)

ผลการวิจัย: คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมมารดาในการป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับนมมารดาไม่เพียงพอในทารกแรกเกิดครบกำหนดของกลุ่มมารดาที่ได้รับโปรแกรมการสอนแนะสูงกว่ากลุ่มที่มารดาได้รับการพยาบาลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01)

สรุป: โปรแกรมการสอนแนะเป็นกิจกรรมการพยาบาลที่มีประสิทธิภาพต่อพฤติกรรมของมารดาในการป้องกันภาวะตัวเหลืองจากการได้รับนมมารดาไม่เพียงพอในทารกแรกเกิดครบกำหนด

Article Details

Section
Research articles