ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติของนักเรียนชายอาชีวศึกษา จังหวัดชลบุรี
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติ และปัจจัยที่มีความ สัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติของนักเรียนชายอาชีวศึกษา
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบบรรยายเชิงความสัมพันธ์
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชายอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 1-2 ที่กำลังศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษาภาครัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดชลบุรี จำนวนทั้งหมด 351 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามความผูกพันกับครอบครัว แบบประเมินความเครียด แบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิเสธการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แบบสอบถามความคาดหวังผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแบบสอบถามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติ มีค่าความเที่ยงของแบบสอบถามเท่ากับ .80, .80, .79, .92, .75 และ .90 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และ Binary logistic regression
ผลการวิจัย: ความชุกในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติของนักเรียนชายอาชีวศึกษา คิดเป็น
ร้อยละ 44.7 โดยพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติของนักเรียนชายอาชีวศึกษา ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (AOR = 4.77, 95% CI = 2.81-8.10) ความเครียด (AOR = 2.35, 95% CI = 1.22-4.54) การรับรู้สมรรถนะแห่งตนในการปฏิเสธการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AOR = 2.21, 95% CI = 1.35-3.60) ความคาดหวังผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AOR = 1.65, 95% CI = 1.01-2.71) และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเพื่อนสนิท (AOR = 2.08, 95% CI = 1.18-3.69) ส่วนความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ความผูกพันกับครอบครัว และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของบุคคลในครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์กับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติ
สรุป: ผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อป้องกันการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบผิดปกติหรือดื่มในปริมาณที่มากกว่าระดับที่ปลอดภัยในนักเรียนชายอาชีวศึกษาArticle Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์