ปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาพฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ ความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ในความสามารถตนเอง การเสริมสร้างพลังอำนาจด้านจิตใจ ความเครียดในงาน กับพฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ และปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบบรรยาย
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล และมีประสบการณ์ทำงาน 1 ปีขึ้นไป จำนวน 300 คน เลือกโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามการรับรู้ในความสามารถตนเอง แบบสอบถามการเสริมสร้างพลังอำนาจด้านจิตใจ แบบสอบถามความเครียดในงาน และแบบสอบถามพฤติกรรมสร้างสรรค์ แบบสอบถามทั้งหมดผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและวิเคราะห์ความเที่ยงได้เท่ากับ .83, .93, .85 และ .90 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหูคูณแบบเพิ่มตัวแปรเป็นขั้นตอน
ผลการวิจัย: 1) พฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร อยู่ในระดับดี ( = 3.57, SD = .58)
2) การรับรู้ในความสามารถตนเอง และการเสริมสร้างพลังอำนาจด้านจิตใจ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .20 และ r =.327) แต่ความเครียดในงานไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร (r = -.07, p > .05)
3) ตัวแปรที่พยากรณ์พฤติกรรมสร้างสรรค์ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเอกชน กรุงเทพมหานคร อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คือ การเสริมสร้างพลังอำนาจด้านจิตใจ โดยพยากรณ์ได้ ร้อยละ 10.7 (R2 = .107)
สรุป: ผู้บริหารทางการพยาบาลควรเสริมสร้างพลังอำนาจด้านจิตใจให้กับพยาบาลวิชาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีพฤติกรรมสร้างสรรค์อันจะสามารถปฏิบัติงานพยาบาลที่เป็นเลิศต่อไป
Article Details
ลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์เป็นของวารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฉบับตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและเอกสารออนไลน์