ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และภาวะโภชนาการในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงในชุมชน

Main Article Content

ธัญจิรา พิลาศรี
นพวรรณ เปียซื่อ
สุจินดา จารุพัฒน์ มารุโอ

Abstract

วัตถุประสงค์: 1) เปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะโภชนาการของกลุ่มทดลองระหว่างก่อนและหลังได้รับโปรแกรมฯ และ 2) เปรียบเทียบพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะโภชนาการระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงในชุมชน 2 แห่งของจังหวัดสุรินทร์ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 35 ราย และกลุ่มทดลอง 35 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ประกอบด้วย ขั้นตอนการสร้างความตระหนักของชุมชนในปัญหาโภชนาการและพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรวมพลัง และติดตามประเมินภาวะโภชนาการ โปรแกรมได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหาร มีค่าความเที่ยงแบบวัดซ้ำเท่ากับ .90 แบบสอบถามพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการประเมินภาวะโภชนาการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยาย สถิติที และสถิติแมนวิทนีย์-ยู

ผลการวิจัย: 1) พฤติกรรมการบริโภคอาหารของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับโปรแกรมดีกว่าก่อนได้รับโปรแกรม (p<.001) และดีกว่ากลุ่มควบคุม (p<.001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มทดลองในระยะหลังทดลอง ดีกว่าก่อนทดลอง (p<.001) และดีกว่ากลุ่มควบคุม (p=.02) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ 3) ภาวะโภชนาการ ได้แก่ เส้นรอบเอว ระดับน้ำตาลในเลือด และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดของกลุ่มทดลองดีกว่าก่อนทดลอง (p<.001) และดีกว่ากลุ่มควบคุม (p<.001) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สรุป: ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อพยาบาล เจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพ และเครือข่ายชุมชนในการติดตามภาวะเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุงและส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการดูแลสุขภาพ  ทั้งการบริโภคอาหาร  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้สามารถควบคุมภาวะเสี่ยงโรคอ้วนลงพุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Article Details

Section
Research articles