บริการส่งเสริมสุขภาพสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่พำนักระยะยาวในประเทศไทย

Main Article Content

ดาริกา เยือกเย็น
บุญใจ ศรีสถิตย์นรากูร

Abstract

วัตถุประสงค์:  เพื่อศึกษาบริการส่งเสริมสุขภาพซึ่งโรงพยาบาลเอกชนควรจัดบริการแก่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพำนักระยะยาวในประเทศไทย

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณนา โดยใช้เทคนิค EDFR

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 17 คน รวบรวมความคิดเห็นที่สอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญโดยใช้เทคนิคเดลฟาย จำนวน 3 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 ใช้แบบสัมภาษณ์ปลายเปิด โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเสนอแนะบริการส่งเสริมสุขภาพซึ่งโรงพยาบาลเอกชนควรจัดบริการแก่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่พำนักระยะยาวในประเทศไทย นำข้อมูลเชิงคุณภาพมาวิเคราะห์และจัดกลุ่มเนื้อหาตามสาระเพื่อนำมาสร้างแบบสอบถามในการรวบรวมข้อมูลรอบที่ 2 รอบที่ 2 ใช้แบบสอบถามมาตรประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ระดับความสำคัญของรายการบริการส่งเสริมสุขภาพโดยคำนวณหาค่ามัธยฐาน วิเคราะห์ความคิดเห็นที่สอดคล้องของผู้เชี่ยวชาญโดยคำนวณค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ คัดเลือกรายการบริการส่งเสริมสุขภาพโดยพิจารณาจากค่ามัธยฐานระดับมากขึ้นไป และเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญ (Md 3.50, IR ≤1.50) รอบที่ 3 ให้ผู้เชี่ยวชาญทบทวนความคิดเห็นของตนเองเพื่อยืนยันคำตอบหรือเปลี่ยนแปลงคำตอบตามที่ได้ระบุระดับความสำคัญของรายการบริการส่งเสริมสุขภาพในรอบที่ 2 คัดเลือกบริการส่งเสริมสุขภาพโดยพิจารณาจากค่ามัธยฐานระดับมากขึ้นไป และเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกันของผู้เชี่ยวชาญ (Md ≥3.50, IR ≤1.50)

ผลการวิจัย: บริการส่งเสริมสุขภาพซึ่งโรงพยาบาลเอกชนควรจัดบริการแก่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพำนักระยะยาวในประเทศไทย ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1) บริการส่งเสริมสุขภาพด้านร่างกาย 2) บริการส่งเสริมสุขภาพด้านจิตใจ 3) บริการส่งเสริมสุขภาพด้านสังคม 4) บริการส่งเสริมสุขภาพด้านจิตวิญญาณ 5) บริการส่งเสริมสุขภาพที่มีความปลอดภัย

สรุป: โรงพยาบาลเอกชนควรจัดบริการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic health care) ที่ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ที่เน้นความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพำนักระยะยาวในประเทศไทย 

Article Details

Section
Research articles