ผลกระทบด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ จากการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่น จังหวัดจันทบุรี

ผู้แต่ง

  • ยุพเยาว์ วิศพรรณ์ กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี
  • สมจิต ยาใจ กลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี

คำสำคัญ:

การตั้งครรภ์, แม่วัยรุ่น, สุขภาพ, สังคม, เศรษฐกิจ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม เพื่อศึกษาคุณลักษณะทางประชากร สังคม และเศรษฐกิจของแม่วัยรุ่นและสามี และเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจจากการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเป็นแม่วัยรุ่น จังหวัดจันทบุรี จำนวน 300 คน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญในการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตเป็นแม่วัยรุ่น สามี และแม่ของแม่วัยรุ่น จำนวนกลุ่มละ 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามที่แบ่งออกเป็น 7 ส่วน หาค่าความเชื่อมั่น 2 ส่วน ได้ค่าเท่ากับ .85 และ .73 แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสังเกต เก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2555 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า 1) แม่วัยรุ่นมีอายุขณะคลอดบุตรคนแรกอยู่ในช่วง 15-17 ปี การศึกษาขณะเริ่มตั้งครรภ์คือ ระดับมัธยมศึกษา ครึ่งหนึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ พักอาศัยกับพ่อแม่ ส่วนสามีมีอายุอยู่ในช่วง 16-19 ปี มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีพปัจจุบันคือ รับจ้าง/ลูกจ้าง บางส่วนไม่ได้ประกอบอาชีพ 2) ผลกระทบด้านสุขภาพ แม่วัยรุ่นมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ส่วนบุตรมีภาวะแทรกซ้อนขณะอยู่โรงพยาบาล หนึ่งในสี่ไม่ได้รับการประเมินพัฒนาการ 3) ผลกระทบด้านสังคม แม่วัยรุ่นครึ่งหนึ่งเลี้ยงดูบุตรในระยะ 6 เดือนหลังคลอด ด้วยนมแม่อย่างเดียว เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรเอง การใช้จ่ายของแม่วัยรุ่นและสามีไม่พอใช้ แต่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ สัมพันธภาพกับครอบครัวและสามีอยู่ในระดับปานกลาง เกือบทุกคนไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคม การยอมรับของสังคมอยู่ในระดับปานกลาง และ 4) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แม่วัยรุ่นสูญเสียโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการทำงานเพื่อสร้างรายได้

จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าโรงเรียนควรมีการติดตามนักเรียนที่ตั้งครรภ์ และสนับสนุนให้ได้กลับเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษา ส่วนบุคลากรทางสุขภาพควรจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่วัยรุ่นและเยาวชนเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์

References

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2554). รายงานผลการศึกษา/ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนา (ปฏิรูป) บทบาท ภารกิจ โครงสร้าง และกลไกการทำงาน. นนทบุรี: ผู้แต่ง.

ดลฤดี เพชรขว้าง, จรรยา แก้วใจบุญ, เรณู บุญทา, และกัลยา จันทร์สุข. (2554). การตั้งครรภ์วัยรุ่นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการตั้งครรภ์ในสตรีวัยรุ่น. สืบค้น วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559, จาก mis.bcnpy.ac.th/webapp/research/myfile/2-54.pdf

เบญจาพร ปัญญายง. (2553). การทบทวนองค์ความรู้: การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.

ปัญญา สนั่นพานิชกุล, และยศพล เหลืองโสมนภา. (2556). การตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่น: ปัจจัยทางด้านมารดาที่มีผลต่อทารก. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า, 38(2), 147-156.

ศิริพร จิรวัฒน์กุล, และคณะ. (2554). การศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น (รายงานผลการวิจัย). ศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2554). ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม. กรุงเทพฯ: ผู้แต่ง.

สมจิต ยาใจ, และจันจิรา ใจดี. (2555). ความคิดเห็นและพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่น จังหวัดจันทบุรี (รายงานผลการวิจัย). สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี.

สุภาว์ อาวสกุลสุทธิ. (2555). การศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม-เศรษฐกิจจากการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในเขต 2 จังหวัดสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และชัยนาท (รายงานผลการวิจัย). ศูนย์อนามัยที่ 2 สระบุรี.

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2553). การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล. นนทบุรี: ผู้แต่ง.

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2555). นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: ผู้แต่ง.

Yamane, T. (1973). Statistics: An introductory analysis (3rd ed.). New York: Harper and Row.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-03

ฉบับ

บท

รายงานการวิจัย (Research Report)