ปัจจัยที่สัมพันธ์กับบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของผู้บริหารทางการพยาบาลในระดับอำเภอ
Keywords:
บทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลง, การสร้างเสริมสุขภาพ, ผู้บริหารทางการพยาบาลระดับอำเภอAbstract
ในสถานการณ์ปัจจุบัน บริบทของโรงพยาบาลชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะด้านนโยบายที่เน้นการให้บริการเชิงรุก สร้างนำซ่อม เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของผู้บริหารทางการพยาบาลระดับอำเภอ (CNO-D) ในการนำไปใช้ปรับบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารทางการพยาบาลให้เหมาะสมกับนโยบายและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำมาจัดเป็นแนวทางพัฒนาผู้บริหารทางการพยาบาลระดับอำเภอด้านการสร้างเสริมสุขภาพต่อไป ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบ stratified-cluster sampling จำนวน 195 คน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเองด้วยวิธีการส่งไปรษณีย์ อัตราการตอบกลับ ร้อยละ 80.5 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความสัมพันธ์โดยใช้สถิติสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า ผู้บริหารทางการพยาบาลระดับอำเภอมีบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้าน การสร้างเสริมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 73.9 เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการเสริมสร้างกำลังใจ ด้านการทำให้ผู้อื่นได้แสดงความสามารถ ด้านการเป็นแบบอย่าง และด้านการสร้างกระบวนการแบบท้าทาย อยู่ในระดับสูง ร้อยละ 86.6, 84.1, 75.8 และ 63.0 ตามลำดับ ด้านการสร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.4 และพบว่าปัจจัยที่สัมพันธ์กับบาทผู้นำ การเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ CNO-D ประกอบด้วย ระดับการศึกษา การอบรมเพิ่มเติมด้านภาวะผู้นำ การอบรมเพิ่มเติมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ปัจจัยจูงใจ ปัจจัยค้ำจุน นโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพ และทรัพยากรในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (P-value <0.05) และปัจจัยที่สามารถทำนายบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ CNO-D ได้แก่ ปัจจัยจูงใจในการปฏิบัติงานและปัจจัยด้านนโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสามารถร่วมกันทำนายบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ CNO-D ได้ร้อยละ 54.2
ผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานและการสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
Downloads
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ตีพิมพ์และแผนภูมิรูปภาพถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาธารณสุข (Thai Public Health Nurses Association)