ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดจากการทำงานกับความพึงพอใจในงานของอาจารย์พยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
Keywords:
ความเครียดจากการทำงาน, ความพึงพอใจในงาน, อาจารย์พยาบาลAbstract
การผลิตบัณฑิตพยาบาลจำเป็นต้องมีสัดส่วนอาจารย์ที่เพียงพอ เพื่อผลิตบัณฑิตพยาบาลให้มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของระบบบริการสุขภาพ วัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดจากการทำงานกับความพึงพอใจในงานของอาจารย์พยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามกรอบแนวคิด JOB DEMAND-CONTROL MODEL กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นอาจารย์พยาบาล จำนวน 311 คน คัดเลือกโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความเครียดจากการทำงาน (JCQ) และแบบสอบถามความพึงพอใจในงาน (JSS) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ไค-สแควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าอาจารย์พยาบาลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 94.5 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 31-40 ปี ร้อยละ 50.5 มีสถานภาพคู่ร้อยละ 55.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทร้อยละ 89.7 มีประสบการณ์การสอน 1-10 ปีร้อยละ 52.4 มีความเครียดด้านภาระงานอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 69.5 มีความเครียดด้านการควบคุมและอำนาจการตัดสินใจอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 62.1 มีความเครียด ด้านแรงสนับสนุนทางสังคม อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 75.2 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจ ในการทำงานคือด้านภาระงาน (r= -0.152, p< 0.01) ด้านการควบคุมและอำนาจการตัดสินใจในงาน (r = 0.301, p < 0.01) และด้านแรงสนับสนุนทางสังคม (r = 0.592, p < 0.01)
ความเครียดในด้านภาระงาน ด้านการควบคุมและอำนาจการตัดสินใจในงานและด้านแรงสนับสนุนทางสังคมสูง ทำให้งานของอาจารย์พยาบาลต้องมีความกระตือรือร้น การทำงานในเชิงรุกและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีความสามารถในการจัดการควบคุม ผู้บริหารควรวางแผนปรับสมดุลของภาระงาน สนับสนุนอาจารย์พยาบาลในการพัฒนาความรู้ความสามารถ จัดสวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือตามความต้องการ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน เพื่อให้อาจารย์พยาบาลมีความพึงพอใจในงานต่อไป
Downloads
How to Cite
Issue
Section
License
บทความที่ตีพิมพ์และแผนภูมิรูปภาพถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารพยาบาลสาธารณสุข (Thai Public Health Nurses Association)