ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพหุพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร

Authors

  • กอปรขนบ ดวงแก้ว
  • อาภาพร เผ่าวัฒนา
  • นฤมล เอื้อมณีกูล

Keywords:

นักเรียนอาชีวศึกษา, พหุพฤติกรรมเสี่ยง, ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน

Abstract

พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพเป็นปัญหาหลักทางสาธารณสุข ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลกโดยเฉพาะประชากรในกลุ่มวัยรุ่น การวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวางมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพหุพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครโดยใช้ทฤษฎีพฤติกรรมตามแผนมาเป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนทั้งเพศชายและหญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปวช.ปีที่ 2-3 และระดับชั้นปวส.ปีที่ 1-2 จำนวน 419คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการแบ่งชั้นภูมิเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการตอบแบบสอบถามชนิดเลือกตอบด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สถิติไคสแควร์และการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมเสี่ยง 1 ชนิด ร้อยละ 27.7 โดยมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 87.9 มีพฤติกรรมเสี่ยง 2 ชนิด ร้อยละ 31.0 โดยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ร่วมกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 73.9 และมีพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ร่วมกับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ คิดเป็นร้อยละ 19.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพหุพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนอาชีวศึกษา ได้แก่ เพศชาย (OR=2.80, 95%CI = 1.874 – 4.184) การพักอาศัยที่ไม่ได้อยู่กับบิดาและมารดา(OR=1.51, 95%CI = 1.030 – 2.238)อายุที่มากขึ้น (OR=1.55, 95%CI = 1.054 – 2.298) การมีผลการเรียนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3.00 (OR= 2.12, 95%CI = 1.408 – 3.216) ทัศนคติทางบวกต่อการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยง (OR= 2.85, 95%CI = 1.903 – 4.289) การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงในการหลีกเลี่ยงพหุพฤติกรรมเสี่ยงต่ำ (OR= 1.77, 95%CI = 1.112 – 2.828)การรับรู้ความสามารถในการควบคุมพหุพฤติกรรมเสี่ยงต่ำ (OR= 2.37, 95%CI = 1.602 – 3.511) และความตั้งใจในการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยงสูง (OR= 2.78, 95%CI = 1.347 – 5.755) ผลการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกส์พบว่า ทัศนคติต่อการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยง การรับรู้ความสามารถในการควบคุมการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยง เพศ และผลการเรียน สามารถอธิบายโอกาสในการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนอาชีวศึกษาได้ร้อยละ 16 (p<0.05)
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดโปรแกรมเพื่อป้องกันพหุพฤติกรรมเสี่ยง โดยเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยง และการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะการปฏิเสธการทำพหุพฤติกรรมเสี่ยงให้กับนักเรียน รวมทั้งควรมีการร่วมมือกันระหว่างบุคลากรด้านสุขภาพและสถานศึกษาในการคัดกรอง และประเมินพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กที่อยู่ในความดูแล เพื่อป้องกันปัญหาพหุพฤติกรรมเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Downloads

How to Cite

ดวงแก้ว ก., เผ่าวัฒนา อ., & เอื้อมณีกูล น. (2017). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพหุพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร. Journal of Public Health Nursing, 31, 75–96. Retrieved from https://he01.tci-thaijo.org/index.php/phn/article/view/100848

Issue

Section

Research Articles