จริยธรรม

จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ (Publication Ethics)

วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพเป็นวารสารวิชาการด้านพยาบาลศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารผลงานวิชาการตลอดจนข้อค้นพบใหม่ๆ  ระหว่างนักวิชาการ  นักวิจัย และสังคมภายนอก ดังนั้นเพื่อให้การสื่อสารทางวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ระดับนานาชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน อาทิ เช่น Committee on Publication Ethics (COPE) ตลอดจนสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง เช่น Elsevier วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการ สำหรับไว้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ในลักษณะบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วน คือ

1.ผู้นิพนธ์ (Duties of Authors) 

2.บรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors) และ

3.ผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers) ดังนี้  

ส่วนที่ 1 บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

  1. ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์วารสารใดมาก่อน
  2. ในการรายงานข้อความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยนั้น ผู้นิพนธ์ต้องไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  3. ผลงานของผู้อื่นที่นำมาใช้ในผลงานของตนเองต้องมีการอ้างอิง  รวมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงไว้ท้ายบทความตามแบบฟอร์มที่วารสารกำหนดไว้
  4. ควรศึกษา"คำแนะนำผู้เขียน"ให้เข้าใจทั้งนี้เพื่อเขียนบทความทุกประเภทให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนดไว้
  5. ทุกรายชื่อที่ปรากฏในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยหรือทำบทความวิชาการจริง
  6. งานวิจัยที่มีแหล่งทุนสนับสนุนต้องระบุที่บทความให้ชัดเจน
  7. ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (หากมี)

     นอกจากนี้ ทางวารสารได้จัดทำแบบตรวจสอบบทความ เพื่อลงตีพิมพ์วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (สำหรับผู้นิพนธ์)  ไว้แล้ว ผู้นิพนธ์ต้องตรวจสอบตามแบบตรวจสอบก่อนส่งตีพิมพ์ทุกครั้ง

ส่วนที่ 2 บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

  1. รับผิดชอบพิจารณาคุณภาพของบทความทุกบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร
  2. ไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  3. ตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้วโดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่  ความชัดเจน  และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
  4. ไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และบทความที่บรรณาธิการวารสารมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์     ผู้ประเมิน  และทีมผู้บริหารวารสาร
  5. ไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความเพียงเพราะความสงสัยหรือไม่แน่ใจจนกว่าจะมีหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยนั้นๆ ก่อน
  6. มีการตรวจสอบบทความในด้าน การคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจังโดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
  7. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการจะหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันที เพื่อขอคำชี้แจงเพื่อประกอบการ "ตอบรับ" หรือ "ปฏิเสธ" การตีพิมพ์บทความนั้นๆ

ส่วนทื่ 3 บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)

  1. ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ผู้ประเมินจะต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาให้แก่บุคคลอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง (Confidentiality)
  2. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร หากผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ตัวอย่าง เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือรู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ   ที่อาจทำให้เกิดความลำเอียงหรือไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆทันที
  3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จ ะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ คุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มขันของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัยและวิชาการของวารสาร
  4. หากผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึงผลงานวิจัยที่สำคัญๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน ในการประเมินบทความนั้นๆ  ผู้ประเมินควรระบุไว้ให้ นอกจากนี้ หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำช้อนกับผลงานชิ้นอื่นๆ        ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วยทันที