การศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักศึกษาและบุคลากร ที่มีต่อการจัดงานกฐินพระราชทานของมหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้แต่ง

  • ภาณุมาศ ทองสุขศรี

DOI:

https://doi.org/10.14456/jmu.2017.3

คำสำคัญ:

พฤติกรรม, ความพึงพอใจ, กฐินพระราชทาน, การมีส่วนร่วม

บทคัดย่อ

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความพึงพอใจของนักศึกษาและบุคลากรที่มีต่อการจัดงานกฐินพระราชทาน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน  67,005  คน เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย ได้ขนาดตัวอย่างจำนวน 398 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถามชนิดตอบเอง  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยได้รับแบบสอบถามคืนร้อยละ 100

          ผลการศึกษาพฤติกรรมในการเข้าร่วมงานกฐินพระราชทานพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับทราบข่าวสารการจัดงานจากหนังสือเวียน เหตุผลที่เข้าร่วมงานเพราะต้องการสร้างมหาทานสะสมบุญบารมีให้สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะร่วมใน กิจกรรมการบริจาคเงินทำบุญ เทศกาลที่บริจาคเงินทำบุญมากที่สุดคือเทศกาลทอดกฐิน ซึ่งจะบริจาคเงินทำบุญสมทบกฐินของมหาวิทยาลัยเกือบทุกปี  โดยทำบุญร่วมกับคนอื่นในหน่วยงานและรวบรวมนำส่งในนามของส่วนงาน ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจบริจาคเงินทำบุญคือการที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะบริจาคเงินทำบุญโดยเฉลี่ยไม่เกิน 100 บาท สำหรับการไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดพบว่า วัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง มีเกจิอาจารย์หรือวัตถุมงคลดังจะมีผลต่อการตัดสินใจไปร่วมพิธีฯ ซึ่งเคยไปร่วมพิธีฯ มาแล้วจำนวน 1 - 5 ครั้ง โดยจะเดินทางด้วยรถรับ - ส่งที่มหาวิทยาลัยจัดให้  และส่วนใหญ่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องจัดกิจกรรมใดเพิ่มเติมอีกเพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับวัดและชุมชน

          ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อการจัดงานกฐินพระราชทานพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน  เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย คือ ด้านพิธีการ ด้านการบริจาคเงินทำบุญ ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านการต้อนรับและ สิ่งอำนวยความสะดวก และด้านสถานที่และยานพาหนะ  โดยข้อที่กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ รูปแบบการจัดงานกฐินพระราชทานที่มีการแจกของที่ระลึก/วัตถุมงคลแก่ผู้ไปร่วมพิธีที่วัด รองลงมา คือ ความถูกต้องและความเหมาะสมของพิธีถวายผ้าพระกฐิน และความเหมาะสมของการเชิญชวนบริจาคเงินทำบุญผ่านหน่วยงานต้นสังกัดหรือการตั้งตู้รับบริจาคที่ส่วนงานแทนการส่งซองทำบุญถึงตัวบุคคลโดยตรงส่วนข้อที่กลุ่มตัวอย่าง มีความ พึงพอใจน้อยที่สุดคือ ความทั่วถึงและความหลากหลายช่องทางของการประชาสัมพันธ์การจัดงาน รองลงมา คือ อาหารและเครื่องดื่ม และความเหมาะสมและความสะดวกในการจัดยานพาหนะรับ-ส่งผู้เดินทางไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดตามลำดับ

          ข้อเสนอแนะจากการวิจัย 1) ด้านประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยควรเลือกใช้สื่อแบบผสมผสานที่มีความสอดคล้องกับความสนใจ ทัศนคติ ค่านิยม และความคุ้นเคยของนักศึกษา  เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์  รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์การนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การจัดงาน ตลอดจนให้ความสำคัญกับสื่อกิจกรรม 2) ด้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวก ควรตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลจำนวนผู้ไปร่วมงานกับ ส่วนงาน  พร้อมทั้งเตรียมอาหารสำรองกรณีฉุกเฉิน และจัดบริการอาหารมังสวิรัติเพื่อให้สอดคล้องกับงานบุญ  3) การจัดบริการรถรับ - ส่งผู้เดินทางไปร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐิน ควรเพิ่มจุดรับ – ส่งย่อยโดยให้รถบริการวิ่งวนรับ - ส่งตามจุดที่กำหนด 4) ด้านการมีส่วนร่วม ควรสร้างกลไกให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับมหาวิทยาลัยโดยการแต่งตั้งผู้บริหารของส่วนงานต่างๆ เป็นคณะกรรมการการจัดงาน ควรจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมพิเศษเกี่ยวกับงานกฐินพระราชทานในลักษณะการจัดการความรู้ ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกส่วนงานหลีกเลี่ยงการจัดสัมมนา/การประชุมวิชาการ/กิจกรรมในวันเดียวกับวันที่มีการจัดงานกฐินพระราชทาน

References

1. มหาวิทยาลัยมหิดล. (2559). สารสนเทศ 2559 มหาวิทยาลัยมหิดล. กองแผนงาน มหาวิทยาลัยมหิดล, นครปฐม.

2. พรทิพย์ วรกิจโภคาทร. (2530). สื่อประชาสัมพันธ์. ในเอกสารการสอนชุดวิชาการการบริหารประชาสัมพันธ์ (หน่วยที่ 1- 7). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, นนทบุรี.

3. พระมหาชัยนาท อรรคบุตร. (2542). แรงจูงใจในการเข้าวัดของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ศึกษากรณีวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์ศิลปะศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารองค์การ บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยเกริก, กรุงเทพมหานคร.

4. เพชรรินทร์ คลังคระกูล. (2556). ศึกษาการอนุรักษ์และเผยแผ่ประเพณีการทอดกฐินของชุมชนเทศบาลตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.

5. สมภพ มหาคีตะ. (2557). ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำบุญของพุทธศาสนิกชนในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี. วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารทั่วไป. มหาวิทยาลัยบูรพา, ชลบุรี

6. อนุกูล คลังบุญครอง และพละ เชาวรัตน์. (2531). ทัศนคติของชาวชนบทอีสานต่อการทำบุญ. ขอนแก่น: คณะเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2017-06-30

ฉบับ

บท

บทความวิจัย