ผลกระทบการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต่อระบบการบริหารจัดการด้านการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • ไพโรจน์ พรหมพันใจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ทิพยรัตน์ สิงห์ทอง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • ธีระวุธ ธรรมกุล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • พรศักดิ์ อยู่เจริญ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

ระบบการบริหารจัดการ, การป้องกันควบคุมโรค, การถ่ายโอนภารกิจ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

        การวิจัยแบบผสานวิธีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระบบบริหารจัดการ ผลลัพธ์ของระบบการบริหารจัดการ และผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชนด้านการป้องกันควบคุมโรคของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนและไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พร้อมทั้งศึกษาข้อเสนอแนวทางพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการป้องกันควบคุมโรคของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3,821 คน จาก 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้อำนวยการ รพ.สต. จำนวน 374 คน ประชาชนอายุ 18  ปีขึ้นไป จำนวน 842 คน ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 1,245 คน และประชาชนที่เป็นผู้ปกครองเด็กอายุ 0 – 5 ปี จำนวน 670 คนด้วยแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ ทุกข้อคำถามมีค่าดัชนีความสอดคล้อง มากกว่า 0.5 และค่าความเที่ยงมากกว่า 0.7 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ คือ สถิติเชิงพรรณนานำเสนอค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน การวิเคราะห์ไคสแควร์ และการทดสอบค่าที การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จากกลุ่มผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายระดับประเทศ จำนวน 8 คน ด้วยแนวคำถามกึ่งโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา

        ผลการศึกษา พบว่า ผลการเปรียบเทียบระบบการบริหารจัดการตาม 6 เสาหลักของระบบสุขภาพ ในมุมมองของผู้อำนวยการ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน และยังไม่ถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. พบว่า (1) ด้านการจัดบริการ (2) ด้านกำลังคน และ(3) ด้านการเงินการคลัง ไม่แตกต่างกัน แต่พบว่า (4) ด้านข้อมูล (5) ด้านการเข้าถึงยา วัคซีน และเทคโนโลยีที่จำเป็น และ(6) ด้านภาวะผู้นำและธรรมาภิบาล แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์ของระบบการบริหารจัดการในมุมมองของ ผู้อำนวยการ รพ.สต. พบว่า ผลลัพธ์ของระบบการบริหารจัดการ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับมุมมองของประชาชน พบว่า คุณภาพการจัดบริการ และความพึงพอใจต่อการได้รับบริการไม่แตกต่างกัน และผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางสุขภาพของประชาชน พบว่า อัตราป่วยโรคไข้เลือดออกของประชาชน ปี พ.ศ. 2565 – 2566 ใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ต่ำกว่าไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจ สำหรับประเด็นการคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงพร้อมทั้งการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็กอายุ 0 – 5 ปี นั้น ไม่แตกต่างกัน สำหรับข้อเสนอแนวทางพัฒนาระบบการบริหารจัดการของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. ควรมีการพัฒนาประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) ด้านบุคลากรและการพัฒนาบุคลากร (2) ด้านข้อมูล (3) ด้านการเข้าถึงยา วัคซีน และเทคโนโลยีที่จำเป็น (4) ด้านงบประมาณ (5) ด้านภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลต่อการป้องกันควบคุมโรค และ (6) ด้านทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคตามบทบาทของ รพ.สต. มีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต

References

ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด. (19 ตุลาคม 2564). ราชกิจจานุเบกษา 2564; เล่ม 138 ตอนพิเศษ 254 ง หน้า 14 – 15.

สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย, กมลพัฒน์ มากแจ้ง, ศรวณีย์ อวนศรี, วิมลรัตน์ ถนอมศรีเดชชัย, ธนินทร์ พัฒนศิริ, ศักดิธัช อิทธิพิสิฐ, และคณะ. กลไกการประมวลสถานการณ์และการสนับสนุนงานวิชาการนโยบายและระบบสุขภาพ : กรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด. นนทบุรี: มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ; 2565.

สำนักงบประมาณของรัฐสภา. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภารกิจการถ่ายโอน กรณีศึกษาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล. กรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร; 2563.

จรวยพร ศรีศศลักษณ์. สรุปบทเรียนการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [อินเทอร์เน็ต]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 8 มกราคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4798/research-health-center%20-Jaruayporn.pdf?sequence=1.

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542. (17 พฤศจิกายน 2542). ราชกิจจานุเบกษา 2542; เล่ม 116 ตอนที่ 114 ก หน้า 48.

กรมควบคุมโรค. แผนพัฒนาด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579). ใน ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ และพรทิพย์ ศิริภาณุมาศ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรกราฟฟิคแอนด์อีไซน์; 2561.

ปฏิคม วิวัฒนานนท์, ประมวล สุขธรณ์. การมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ขององค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่สาธารณสุขเขต 12 ปี พ.ศ. 2547. ม.ป.ท.; 2547.

World Health Organization. Monitoring the building blocks of health systems: a handbook of indicators and their measurement strategies. Geneva: WHO Document Production Services; 2010.

Creswell JW, Creswell JD. Research design: qualitative, quantitative, and mixed methods approaches. 5th ed. Thousand Oaks, California: SAGE Publication; 2018.

ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา, วิทยา โชคเศรษฐกิจ, ภัควัฒน์ ภูริพงศ์ธนวัต, อุกฤษณ กฤตยโสภณ, ณฐนภศรัทธาธรรม, เยาววัลยา อ่อนโพธิ์ทอง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอและออกแบบเชิงนโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด. กรุงเทพฯ: สไมล์ก๊อปปี้; 2564.

ประสพชัย พสุนนท์. ความเที่ยงของแบบสอบถามสำหรับงานวิจัยทางสังคมศาสตร์. วารสารสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2558; 18: 375-96.

Polit DF, Beck CT. Nursing research: generating and assessing evidence for nursing practice. 10th ed. Philadelphia: PA: Wolters Kluwer; 2017.

ชุติเดช ยะภักดี. การถ่ายโอนภารกิจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ความก้าวหน้าและปัญหาในการถ่ายโอนภารกิจ. วารสารสหวิทยาการวิจัยและวิชาการ 2565; 2(3): 263-78.

เริงชาติ ศรีขจรวงศ์. ความพร้อมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกับภารกิจรับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล. วารสารสหวิทยาการวิจัยและวิชาการ 2565; 2(3): 315-34.

วราภรณ์ ผ่องอ่วย, ปาณิสรา นาเลิศ, โชติ บดีรัฐ. ช่องว่างและอุปสรรคในการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. วารสารสหวิทยาการวิจัยและวิชาการ2565; 2(4): 205-20.

วรรณวิภา ไตลังคะ, พนาวัน เปรมศรี, วาธิณี วงศาโรจน์, ภาสกร ดอกจันทร์. การถ่ายโอนภารกิจด้านสังคมสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : สภาพการณ์ ปัญหาอุปสรรคและแนวโน้มในอนาคต. วารสารศิลปการจัดการ 2565; 6(4): 2009-23.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-07-31