การพัฒนารูปแบบสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในนักเรียนถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนโครงการพระราชดำริ เขตสุขภาพที่ 10

ผู้แต่ง

  • สุชญา สีหะวงษ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี
  • พิทยา วามะขันธ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี

คำสำคัญ:

โรคพยาธิใบไม้ตับ, โครงการพระราชดำริ , ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ

บทคัดย่อ

          การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี นักเรียนถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนโครงการพระราชดำริ เขตสุขภาพที่ 10 รูปแบบการศึกษาเป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบ่งการศึกษาเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนารูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ และระยะที่ 3 ประเมินผลการใช้รูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ  ระยะเวลาดำเนินการศึกษา ระหว่าง เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 128 คน และนักเรียนในโรงเรียนโครงการพระราชดำริ จำนวน 368 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามความรอบรู้การป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  แบบติดตามประเมินผลสรุปบทเรียน ประเด็นการสนทนากลุ่มและแบบบันทึกการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา แสดงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบหาความแตกต่างค่าเฉลี่ยของความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ ก่อนและหลังการทดลอง โดยการทดสอบด้วยสถิติเชิงอนุมาน Pair Sample t-test และข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์เชิงเนื้อหา
          ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯในนักเรียนถิ่นทุรกันดาร ประกอบด้วย  1) การพัฒนาแกนนำภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้รับผิดชอบงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และครูผู้รับผิดชอบงานอนามัยโรงเรียนเป้าหมาย 2) การดำเนินงานโดยบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามบทบาท ภาคสาธารณสุขสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ภาคสถานศึกษาดำเนินการกิจกรรมจัดการเรียนการสอน บอร์ดให้ความรู้แก่นักเรียน ร่วมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชน และนักเรียนบอกต่อผู้ปกครองในชุมชน 3) การพัฒนาความรู้และทักษะของวิทยากรกระบวนการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพด้านการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับในแกนนำนักเรียน 4) การดำเนินการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ทั้งในโรงเรียนและชุมชน โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียน  ผู้ปกครอง นักเรียน  และประชาชนในชุมชน  เน้นให้นักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การเฝ้าระวังเก็บอุจจาระส่งตรวจหาพยาธิ การรับประทานยารักษากรณีตรวจพบพยาธิ โดยใช้กระบวนการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพที่มีครูอนามัยโรงเรียนในพื้นที่โครงการพระราชดำริเป็นแกนนำหลัก 5) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี และแกนนำที่ผ่านการอบรมการสร้างความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ  และในส่วนการพัฒนาทักษะความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังพัฒนา มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (gif.latex?\bar{d} =0.42, 95%CI: 0.34 -0.48, p-value< 0.001) ทั้งนี้ ด้านความรู้การป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับฯ หลังและก่อนการพัฒนามีความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นกัน (gif.latex?\bar{d} = 0.06, 95%CI: 0.02-0.11, p-value< 0.001) แต่ด้านพฤติกรรมการรับประทานปลาปรุงสุก ๆ ดิบๆ ของนักเรียน ไม่มีความแตกต่างของคะแนนค่าเฉลี่ย (gif.latex?\bar{d} =0.04, 95%CI: 0.02 - 0.12, p-value= 0.127)
          ข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ควรคัดเลือกแกนนำภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่มีศักยภาพร่วมดำเนินการ สนับสนุนให้มีกิจกรรมสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับฯ ในโรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เดิม เพื่อสร้างปัจจัยสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เอื้อต่อสุขภาพ  นำขยายผลการพัฒนาสร้างความรอบรู้ให้ครอบคลุมโรงเรียนเป้าหมายในโครงการเพิ่มขึ้น และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

References

กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค. เอกสารประกอบการประชุมแนวทางการดำเนินงานโรคพยาธิใบไม้ตับปี พ.ศ 2563. การประชุมชี้แจงแผนดำเนินงานโรคพยาธิใบไม้ตับ; 10 พฤศจิกายน พ.ศ 2563; สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี.

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี กรมควบคุมโรค. แผนงานโครงการโรคหนอนพยาธิ. การประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ประจำปีงบประมาณ 2564; 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564; ณ ห้องประชุมโรงแรมบ้านสวนคุณตา อุบลราชธานี.

พิทยา วามะขันธ์. โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี. เอกสารแผนงานโครงการโรคหนอนพยาธิ การประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคหนอนพยาธิในนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ประจำปีงบประมาณ 2563; 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562; ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่10 จังหวัดอุบลราชธานี.

ขวัญเมือง แก้วดำเกิง. ความรอบรู้ด้านสุขภาพ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง; 2562.

กรมอนามัย. แนวทางการพัฒนาโรงเรียนรอบรู้ด้านสุขภาพ พ.ศ.2563. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2563.

Kemmis S, McTaggart R. The Action Research Planner. 3rded. Geelong, Victoria: Deakin University Press; 1988.

Yamane T. Statistic: An Introductory Analysis. 3 rd ed. New York: Harper and Row; 1973.

ปราณี มีหาญพงษ์, กรรณิการ์ ฉัตรดอกไม้ไพร. การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือวิจัยทางการพยาบาล.วารสารพยาบาลทหารบก 2561; 19(1): 9-15.

เกียรติพงษ์ อุดมธนะธีระ. หลักการ 4 M [อินเทอร์เน็ต]. 2561 [เข้าถึงเมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.iok2u.com/index.php?option=com_content&view=article&id=211&catid=13.

เบญจมาศ อุนรัตน์, พรรณรัตน์ เป็นสุข. การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับในสถานศึกษาต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 9. วารสารสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง 2564; 6 (1): 175-92.

ขวัญเมือง แก้วดำเกิง. เอกสารประกอบการประชุมสุขศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 19 การประชุมฝ่าวิกฤติทางวิชาการและวิชาชีพสาธารณสุข; 9 -11 พฤษภาคม พ.ศ.2562; ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-09