การพัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์จากท่าทางการทำงานของเกษตรกร (FERA) และเปรียบเทียบกับแบบประเมินทั้งร่างกาย (REBA)

ผู้แต่ง

  • ชวนากร เครือแก้ว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุนิสา ชายเกลี้ยง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

เกษตรกร, เครื่องมือประเมิน, โรคทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ, ความเสี่ยงทางการยศาสตร์

บทคัดย่อ

เกษตรกรมีท่าทางและการเคลื่อนไหวระหว่างการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงทางการยศาสตร์ซึ่งอาจเกิดผลกระทบทางสุขภาพทางด้านโรคทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในระยะยาวได้  โดยที่ผ่านมายังไม่มีเครื่องมือประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ในเกษตรกรกลุ่มเพาะปลูก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือประเมินทางการยศาสตร์จากท่าทางการทำงานของเกษตรกร กลุ่มตัวอย่างเป็นเกษตรกรชาวสวนยางพารา การศึกษามี 2 ระยะ คือ ระยะการสร้างเครื่องมือประเมิน และระยะการพัฒนาเป็นเครื่องมือประเมินการยศาสตร์จากท่าทางในเกษตรกรสวนยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 60 คน รวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือดังนี้ 1) แบบสอบถามความรู้สึกไม่สบาย 2) เครื่องมือประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์แบบทั้งร่างกาย (REBA) และ 3) เครื่องมือประเมินการยศาสตร์ท่าทางการทำงานของเกษตรกร (Farmers Ergonomics Risk Assessment: FERA) โดยใช้สถิติ Pearson Chi-Square และวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ โดยใช้สถิติ Spearman's Rank Correlation Coefficient ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สถิติแคปปาถ่วงน้ำหนัก (Weighted Kappa) และทดสอบความสอดคล้องของเครื่องมือข้อมูลชนิดต่อเนื่อง (Inter-rater Reliability: ICC) ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกรมีความรู้สึกไม่สบายในระดับมากขึ้นไป พบสูงสุดที่บริเวณไหล่ หลังส่วนบน และมือและข้อมือ ร้อยละ 73.30 รองลงมาที่บริเวณแขนท่อนล่าง ร้อยละ 71.60 และที่บริเวณคอ ร้อยละ 70.00 ผลการประเมินความเสี่ยงจากท่าทางการทำงานโดยใช้ REBA มีระดับความเสี่ยงสูงมากร้อยละ 43.30 หมายถึงต้องลดความเสี่ยงและแก้ไขในทันที มีระดับเท่ากับผลการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์โดย FERA (ความเสี่ยงสูงมาก ร้อยละ 43.30) หมายถึง ต้องปรับปรุงท่าทางการทำงานหรือส่งเสริมให้เฝ้าระวังโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยผลความเสี่ยงทางการยศาสตร์จาก FERA มีความสอดคล้องกับ REBA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Rho=  0.863, P-value < 0.001) แคปปา (Kappa) = 0.974 และค่าความน่าเชื่อถือผู้ประเมิน ICC=0.995 ความน่าเชื่อถือประเมินโดยเกษตรกร ICC=0.977 และระหว่างผู้ประเมินกับผลประเมินตนเองโดยเกษตรกร ICC= 0.971 ดังนั้น เครื่องมือ FERA นี้สามารถนำไปใช้ในการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ของเกษตรกรได้ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคทางโครงร่างและกล้ามเนื้อได้

References

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปี 2564. กรุงเทพฯ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์; 2564.

Rubber Authority of Thailand. Registration of rubber farmers, 2021.

พนัสบดี ไขแสง, ประภัสสร เกรียรติสุรนนท์. สภาพการผลิตและพฤติกรรมการกรีดยางพาราของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานี. แก่นเกษตร. 2559; 44(พิเศษ): 602-6.

วีรชัย มัฎฐารักษ์, พิทยา ตุกเตียน, อรสา แนมใส. การศึกษาทางการยศาสตร์เบื้องต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงจากการทำงานในการเก็บน้ำยางจากสวนของเกษตรกรชาวสวนยางพารา.ใน: วิทยา เงินแท้, ละออศรี เสนาะเมือง. การประชุมวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำ ปี 2554“การพัฒนาอนาคตชนบทไทย : ฐานรากที่มั่นคงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”; 27-29 มกราคม 2554; ณ ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2554. หน้า 88-93.

สุนิสา ชายเกลี้ยง, กวิสทรารินทร์ คะณะพันธ์, พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับระดับเสี่ยงต่อความผิดปกติทำงระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อในเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา. วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด 2563; 32(1): 82-94.

กวิสทรารินทร์ คะณะพันธ์, พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ, สุนิสา ชายเกลี้ยง. ความเสี่ยงทางการยศาสตร์และสมรรถภาพของกล้ามเนื้อของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 2562; 8(2): 21-31.

วีรชัย มัฎฐารักษ์, นิพนธ์ มณีโชติ, อรสา แนมใส. แนวทางการปรับปรุงการทำางานเพื่อลดปัญหาทางการยศาสตร์ของเกษตรกรชาวสวนยาง : กรณีศึกษาในพื้นที่อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล. วารสารบทคัดย่อกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2558; 1: 452-63.

สุนิสา ชายเกลี้ยง. การประเมินความเสี่ยงทางอาชีวอนามัยต่อความผิดปกติทางระบบกระดูกโครงร่างและกล้ามเนื้อจากการสัมผัสปัจจัยทางการยศาสตร์ในการทำงานของเกษตรกรปลูกยางพารา. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2564; 14(2): 32-44.

อรุณ จิรวัฒน์กุล. ชีวสถิติสำหรับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่3. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยขอนแก่น; 2551.

Chaiklieng S. Health risk assessment on musculoskeletal disorders among potato-chip processing workers. PLoS ONE 2019, 14 (12): e0224980.

Hignett S, McAtemney L. Rapid Entire Body Assessment (REBA). Appl Ergon 2000; 31(2): 201-5.

ชวนากร เครือแก้ว, สุนิสา ชายเกลี้ยง. ความรู้สึกไม่สบายทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อและความเสี่ยงทางการยศาสตร์ของเกษตรกรชาวสวนยาง. วารสารวิจัย มข. (ฉบับบัณฑิตศึกษา) 2566; 23(2): 147-57.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-01-12