การพัฒนาเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องพฤติกรรมการป้องกันวัณโรค ของประชาชนอายุ 15 ปี ขึ้นไป ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7

ผู้แต่ง

  • ดวงใจ ไทยวงษ์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • สุวัฒนา อ่อนประสงค์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
  • อิทธิเดช ไชยชนะ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, วัณโรค, แบบวัด

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องวัณโรคของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานวิจัย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์สภาพปัญหาโดยทบทวนสภาพปัญหาการดำเนินงานของวัณโรคและแนวคิดเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพขั้นตอนที่ 2 พัฒนา (ร่าง) แบบวัดความรอบรู้ เพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ  6 คนให้ข้อเสนอแนะและปรับปรุงตามข้อเสนอแนะ ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดความรอบรู้ฉบับร่าง นำร่องกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คนในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่วิจัยคือ ชุมชนเมืองมหาสารคาม เพื่อตรวจสอบค่าความเชื่อมั่น และค่าอำนาจจำแนก และขั้นตอนที่ 4 พัฒนาแบบวัดความรอบรู้ โดยนำไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 240 คน ในพื้นที่วิจัย 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ และชุมชนเมืองร้อยเอ็ด เพื่อตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้าง และคำนวณหาจุดตัดที่เหมาะสมระหว่างกลุ่มที่มีความรอบรู้ทางสุขภาพเรื่องวัณโรค วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา อธิบายข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอ้างอิงใช้สถิติการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน และข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า 

           1) จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องวัณโรค สามารถกำหนดเป็นข้อคำถามจำนวน 47 ข้อ ได้นำเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญ 6 คน ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา ภาพรวมของค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหารายข้ออยู่ระหว่าง 0.33–1.00 และค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาทั้งฉบับ = 0.68 ผลจากการพิจารณาความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แบบวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องวัณโรคลดลงเหลือจำนวน 39 ข้อ

          2) ตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดความรอบรู้นำร่องกับพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่วิจัยคือ ชุมชนเมืองมหาสารคาม พบว่า ภาพรวมค่าความเชื่อมั่น Cronbach’s Alpha = 0.93 หรือรายด้านอยู่ระหว่าง 0.76–0.85 ค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.32-0.63 ด้านความรู้ความเข้าใจ ค่า KR-20=0.70 ค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.60-0.80 และค่าอำนาจในการจำแนกอยู่ระหว่าง 0.40-0.80 ได้แบบวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องวัณโรคลดลงเหลือจำนวน 34 ข้อ  

          3) ตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างกับประชาชนในพื้นที่วิจัย จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ และชุมชนเมืองร้อยเอ็ด พบว่า ภาพรวมมีความสอดคล้องระหว่างโมเดลของแบบวัดความรอบรู้ด้านสุขภาพกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ค่าสถิติ  =11.175, df= 8 ( = 1.3968, p-value=0.1920) ค่า RMSEA = 0.005, SRMR =0.021, CFI =0.994, TLI = 0.989 โดยตัวแปรที่มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบมากที่สุดคือ การเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ (b = 11.14, R2 = 0.484) รองลงมาคือ การจัดการตนเอง (b = 9.556,  R2 = 0.683) ทักษะการสื่อสาร (b = 8.266, R2 = 0.529) ทักษะการตัดสินใจ (b = 6.802, R2 = 0.529) ความรู้เท่าทันสื่อ (b= 4.565, R2 = 0.438) และความรู้ความเข้าใจ (b = 1.000, R2 = 0.090) 

          4) กำหนดจุดตัดของคะแนนความรอบรู้ด้านสุขภาพอิงเกณฑ์ของบลูม โดยกลุ่มที่มีความรอบรู้ทางสุขภาพเรื่องวัณโรค คะแนนตั้งแต่ 120-150 คะแนน และคะแนนรวมต่ำกว่า 120 คะแนน มีความรอบรู้ทางสุขภาพไม่เพียงพอต่อการป้องกันควบคุมโรค

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-12-29