คุณภาพระบบเฝ้าระวังของการรายงานอาการภายหลังสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) พื้นที่รับผิดชอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
คำสำคัญ: อาการภายหลังสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค, รง506, รายงาน AEFI1บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง เพื่อศึกษาคุณภาพระบบรายงาน AEFI ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น โดยผู้วิจัยเก็บข้อมูลย้อนหลังจากบัตรรายงาน 506 และแบบรายงาน AEFI1 เปรียบเทียบกับเวชระเบียนของผู้ป่วย AEFI ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2560 จำนวน 189 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า ผู้วิจัยทบทวนเวชระเบียนทั้งหมดจำนวน 7,314 ราย มีผู้ป่วยที่เข้าตามนิยาม AEFI ทั้งหมด 189 ราย (ร้อยละ 2.6) ทั้งนี้ผู้ป่วยถูกรายงานเข้าระบบเฝ้าระวัง รง.506 จำนวน 72/189 ราย มีความครบถ้วนของการรายงาน ร้อยละ 38.1(95% CI =31.1 % - 45.4 %) ผู้ป่วย AEFI ทุกรายรายงานถูกต้องตามนิยาม และตัวแปรที่สำคัญรายงานได้ถูกต้อง ได้แก่ รายงานเชื้อชาติ ถูกต้องร้อยละ 100 เพศ และ อายุ ร้อยละ 97.2 ส่วนตัวแปรที่มีความถูกต้องของข้อมูลค่อนข้างน้อย ได้แก่ ผลการรักษา ร้อยละ 40.3 การวินิจฉัย ร้อยละ 69.4 และวันเริ่มป่วย ร้อยละ 75.0 เมื่อพิจารณาความทันเวลาในการรายงานพบว่า ส่วนใหญ่ส่งทันเวลาภายใน 3 วัน จำนวน 70 ราย (ร้อยละ 97.2) ส่งภายใน 4–7 วัน จำนวน 2 ราย (ร้อยละ 2.8)
สรุปผลการศึกษา ความครบถ้วนของการรายงานผู้ป่วยในรายงาน 506 อยู่ในระดับต่ำ ส่วนรายงาน AEFI1 อยู่ในระดับดี ดังนั้นควรมีการติดตามให้มีการรายงาน AEFI ทั้งรายงาน 506 และรายงาน AEFI1 ให้ตรงกัน รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของเวชระเบียนในโรงพยาบาลและข้อมูลการเฝ้าระวังโรคในรายงาน AEFI1 เพื่อเพิ่มความถูกต้องและประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง AEFI ได้ดียิ่งขึ้น
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น