การระบาดของโรคหิดในผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 มกราคม – 2 มิถุนายน 2559
คำสำคัญ:
หิด, เรือนจำ, การสอบสวนโรค, ควบคุมโรคบทคัดย่อ
บทนำ: วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ออกหน่วยแพทย์ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังโรคติดต่อของผู้ต้องขังในเรือนจำ จากการสอบถามข้อมูลห้องพยาบาลในเรือนจำ พบว่า มีผู้ต้องขังมารับบริการด้วยอาการคล้ายหิด ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2559 จำนวน 67 ราย และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกทั้ง พบว่า มีการระบาดของโรคหิดภายในเรือนจำในปลายปี พ.ศ. 2558 ดังนั้น กลุ่มงานเวชกรรมสังคม จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องชันสูตร ออกสอบสวนและควบคุมการระบาดของโรคหิดในเรือนจำแห่งนี้ แต่วันที่ 2 มิถุนายน 2559
วิธีและวิธีการดำเนินการ: มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการเกิดโรค ค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค และเสนอแนวทางการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม โดยการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ด้วยการทบทวนการระบาดของโรคหิด การค้นหาผู้ป่วย โดยนิยามโรคผู้ต้องสงสัยได้แก่ ผู้ที่อาการคันร่วมกับมีอาการแสดงเป็นผื่น ตุ่มน้ำใส รอยเกา โพรงหิด หรือผิวหนังอักเสบ อย่างน้อย 1 อาการแสดง มีการตรวจยืนยันโดยแพทย์ที่ออกดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค ศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มที่ป่วยและไม่ป่วย การสำรวจสิ่งแวดล้อม และดำเนินการควบคุมโรคในผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
ผลการสอบสวน: พบผู้ป่วยสงสัยโรคหิด ในผู้ต้องขังชายและหญิง จำนวน 351 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 1,752 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 20.03 ผู้ป่วยอายุเฉลี่ย 31.02 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ผู้ป่วยสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ปัจจัยที่คาดว่ามีผลต่อการระบาดของโรคได้แก่ เรือนนอน การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด ความแออัดของผู้ต้องขัง การจัดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ประวัติการเคยเป็นหิดมาก่อน และการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
สรุปและวิจารณ์ผล: จากการสอบสวนการระบาดของผู้ป่วยสงสัยโรคหิดในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ยืนยันได้ว่าเป็นการระบาดของโรคหิดจริง โดยพิจารณาจากผลการรักษาด้วยยารักษาโรคหิดโดยเฉพาะและอาการทางคลินิกถึงและตรวจพบตัวหิดในผู้ป่วย ปัจจัยเสี่ยงในการระบาด ได้แก่ ความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนนอน และประวัติการเคยเป็นหิดมาก่อน การป้องกันควบคุมโรคดำเนินการโดยการรักษา ผู้ต้องขังที่ป่วย และผู้ใกล้ชิดไปพร้อมกัน การกำจัดตัวหิดในห้องนอน เรือนนอน และสภาพแวดล้อม การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทำความสะอาดเสื้อผ้าของผู้ต้องขังโดยวิธีการต้มและตากแห้ง ให้ความรู้แก้ผู้ต้องขังถึงความรู้เรื่องโรคหิด รวมถึงการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการและการป้องกันโรค จึงจะสามารถทำให้ควบคุมการระบาดของโรคได้ อย่างไรก็ตามได้มีการกำหนดแนวทางร่วมกันกับเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ในการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องหลังจากการระบาดครั้งนี้
References
2. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม. แนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคหิดและภัยสุขภาพในเรือนจำ.กรุงเทพมหานคร : อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซด์; (มปท).
3. สถาบันโรคผิวหนัง. Clinical Practice Guideline for Scabies [online]. 2006[เข้าถึงเมื่อ 15 ม.ค.2560]. เข้าถึงได้จาก: http://www.inderm.go.th.
4. Division of Infectious Disease Epidemiology, Bureau for Public Health West Virginia. Guidelines for scabies outbreaks institutions (Health Care Facilities, Prisons, Dormitories, Shelters). August 2010 [cited 2015 May 10]. Available from:
http://www.dhhr.wv.gov/oeps/disease/AtoZ/Documents/Guidelines%20for%20Scabies%20outbreaks.pdf
5. Micali G, Lacarrubba F, Verzi AE, Chosidow O, Schwartz RA. Scabies: Advances in Noninvasive Diagnosis. PLoS Negl Trop Dis. 2016;10 (6):e0004691ุ
6. Hafner C. Scabies. Hautarzt. 2009;60 (2):145-59, quiz 60-1.
7. Suwandhi P, Dharmarajan TS. Scabies in the nursing home. Curr Infect Dis Rep 2015; 17(1): 453.
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น