คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • ณัฐพร ลีนวิภาต คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คำสำคัญ:

คุณภาพชีวิต, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ยาต้านไวรัสเอชไอวี

บทคัดย่อ

              การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Analytical study)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี ในจังหวัดขอนแก่น เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ให้กลุ่มตัวอย่างกรอกข้อมูลเอง และข้อมูลจากเวชระเบียน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน 1 เมษายน –31 พฤษภาคม 2562   กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสที่ลงทะเบียนในโครงการบูรณาการระบบสารสนเทศการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์แห่งชาติ (NAP Plus) คำนวณขนาดตัวอย่างได้ 200 คน และเลือกกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสจากโรงพยาบาลขอนแก่น เพราะมีจำนวนมากที่สุด โดยสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และหาความสัมพันธ์โดยการวิเคราะห์ถดถอยแบบพหุโลจิสติก (Multiple logistic regression) แสดงผลการวิเคราะห์ด้วย Adjusted Odds Ratio (ORadj)  ช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 (95%CI) และค่า p-value

         ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีจังหวัดขอนแก่นอยู่ในระดับดี ร้อยละ 56.50  เมื่อจำแนกตามองค์ประกอบคุณภาพชีวิต พบว่า  องค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพกาย จิตใจ สัมพันธภาพทางสังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับปานกลาง  ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างมีนัยสำคัญที่ p-value<0.05  คือ อาการข้างเคียงจากการได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี (ORAdj =1.93, 95%CI= 1.04-3.01,p-value=0.037) และการได้รับปัจจัยทางด้านสังคม (ORAdj =5.33, 95%CI= 2.43-11.50, p-value<0.001)

          ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบคุณภาพชีวิตด้านกาย จิตใจ สังคมและสิ่งแวดล้อมส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวี  ดังนั้นทั้งทีมสหวิชาชีพและญาติของผู้ป่วยจะต้องร่วมมือกันในการดูแลผู้ป่วยพร้อมให้สุขศึกษาถึงผลกระทบข้างเคียงจากการได้รับยาต้านไวรัส และมีการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานพัฒนาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างทัศนคติเกี่ยวกับโรคเอดส์ แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อลดการตีตราทางสังคมให้กับผู้ป่วยเอดส์

 

References

สำนักระบาดวิทยา สถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์ ปี 2552-2554. [ออนไลน์]. 2554.. [เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2561] เข้าถึงได้จาก:http://www.boe.moph.go.th/report.php?cat=68.

เปรมจิตร์ ตันบุญยืน. ปัจจัยทำนายคุณภาพชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี [วิทยานิพนธ์พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย]. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา; 2556.

สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล, นางวิระวรรณ ตันติพิวัฒนสกุล, นางวนิดา พุ่มไพศาลชัย, นางกรองจิตต์ วงศ์สุวรรณ และนางสาวราณี พรมานะรังกุล. เครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทย (WHOQOL – BREF – THAI). กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข; 2541.

Hsieh, F.Y, Bloch, D. A, Larsen, M.D. A simple method of sample size calculation for linear and logistic regression. Statistics in Medicine 1998; 17: 1623-34.

สุเทพ รักเมือง. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสเอชไอวี ในเขต 11 [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2546.

เนตร์นภา อินทร์รองพล. คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ที่เข้ารับยาต้านไวรัส จังหวัดชัยนาท [การศึกษาอิสระสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต]. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช; 2553.

Nobre, Pereira, Roine, Sintonen & Sutinen. Factors associated with the quality of life of people living with HIV in Finland. AIDS Care Psychological and Socio-medical Aspects of AIDS/HIV 2017; 29: 1074-8.

ประทีป ดวงงาม, วัลลภา คชภักดี และปุญญพัฒน์ ไชยเมล์. ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดตรัง [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. สงขลา: มหาวิทยาลัยทักษิณ; 2555.

Whoqol Hiv Group. WHOQOL-HIV for quality of life assessment among people living with HIV and AIDS: results from the field test. AIDS Care Psychological and Socio-medical Aspects of AIDS/HIV 2004; 16: 882-9.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-05-13