The การสอบสวนวัณโรคปอดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง ตำบลนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 8-22 ธันวาคม 2559

ผู้แต่ง

  • เอกชัย ภูผาใจ โรงพยาบาลยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

การสอบสวนโรค วัณโรคปอด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, Investigation, Tuberculosis, Child Center

บทคัดย่อ

วันที่ 8 ธันวาคม 2559 เวลา 12.30 น. คลินิกวัณโรคโรงพยาบาลยางตลาดได้รับรายงานจาก คลินิกวัณโรคโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ว่ามีผู้ป่วยวัณโรคปอดรายใหม่โดยการตรวจยืนยันทางอณูวิทยาด้วยเครื่องยีนเอ็กซ์เปิร์ต ผู้ป่วยไปรับการรักษาที่คลินิกวัณโรคโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพศหญิงอายุ 39 ปี อาชีพครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ คลินิกวัณโรคและทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว อำเภอยางตลาด ร่วมกับงานวัณโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8-22 ธันวาคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของวัณโรค ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคปอดเพิ่มเติม รักษาผู้ป่วยสงสัยวัณโรคปอดและผู้ป่วยยืนยันวัณโรคปอด เพื่อหามาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดวัณโรคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ผลการสอบสวนโรคพบว่า มีผู้ป่วยยืนยันวัณโรคปอดเสมหะบวกด้วยวิธีการตรวจทางอณูวิทยาด้วยเครื่องยีนเอ็กซ์เปิร์ตผลการตรวจพบเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซีสปานกลาง จำนวน 1 คน ให้การรักษาด้วยยาวัณโรค ด้วยสูตรยาระบบยาที่ 1 ไม่ทราบแหล่งรังโรค ทำการสอบสวนโรคตามนิยามผู้ป่วย พบว่ามีนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 16 คน ไม่พบว่าป่วยเป็นวัณโรคแต่ได้ให้การรักษาวัณโรคระยะแฝงโดยการรับประทานยาไอโซนาซิดชนิดน้ำ ทุกราย ลูกสาวของผู้ป่วย 2 ราย อายุ 8 ปีและ 13 ปี ได้รับการเฝ้าระวังอาการ ผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 20 คน และครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลนาดี จำนวน 16 คน ไม่พบว่าป่วยเป็นวัณโรค กลับบ้านและได้ให้คำแนะนำการสังเกตอาการวัณโรคปอด ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 4 คน พบว่ามีอาการสงสัยวัณโรคปอด 1 คนได้รับการส่งตรวจเสมหะทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ผลการตรวจพบว่าไม่เป็นวัณโรคปอด

มาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดวัณโรคในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้แก่ การตรวจสุขภาพโดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก ครู และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถ้ามีอาการป่วย ไข้ ไอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมาทำงาน มีการสังเกตอาการไอเรื้อรังของตัวเองและนักเรียน ทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์การเรียน ของเล่น เครื่องครัว ห้องน้ำ เปิดประตูหน้าต่างให้โล่ง แสงแดดส่องถึงวันละ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน และให้ความรู้เรื่องวัณโรคโดยการสอน อบรม จัดนิทรรศการ หรือ ติดบอร์ด ในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน

References

1. World Health Organization. Global tuberculosis report 2013. France: WHO Library Cataloguing-in-Publication Data; 2013.
2. สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการสอบสวนและควบคุมวัณโรค. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2561.
3. สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการควบคุมวัณโรคประเทศไทย พ.ศ. 2561. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2561.
4. สำนักระบาดวิทยา. การเขียนรายงานสอบสวนโรค. กรุงเทพฯ: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; 2550.
5. น้ำทิพย์ ผู้ภักดี, โกลัญญา พากเพียร, ศศิธร อุตสาหกิจ, รัชกร คำถาเครือ, และมยุรี อินทุยานนท์. การสอบสวนวัณโรคในเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งหนึ่ง ในตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย วันที่ 14 กันยายน-22 ธันวาคม 2554. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ 2556; 44: 57-63.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-26