การป้องกันวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านของผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะ พบเชื้อที่ขึ้นทะเบียนรักษา อำเภอประโคนชัย อำเภอกระสัง และอำเภอพลับพลาชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • มะลิณี บุตรโท Plabplachai hospital, Buriram Province
  • พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ Faculty of Public Health Khon Kaen University

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยวัณโรคปอด, การป้องกันวัณโรคโดยการแยกห้องนอน, ผู้สัมผัสร่วมบ้าน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราการป้องกันวัณโรคและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ ในอำเภอประโคนชัย อำเภอกระสัง และอำเภอพลับพลาชัยจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึง 30 กันยายน 2553 เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวาง(Cross-sectional analytic study) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบคัดลอกข้อมูลของผู้ป่วย และใช้แบบสัมภาษณ์ผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคปอด ใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistic) ในการอธิบายสภาวะของลักษณะกลุ่มตัวอย่างและสถิติเชิงอนุมานที่ใช้ได้แก่ Chi-square test และ Fisher’s extract test เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของปัจจัย สถิติแบบถดถอยพหุใช้ในการวิเคราะห์สมการของการป้องกันวัณโรคโดยใช้ค่า (ORadj) ที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 95.0ผลการวิจัยพบว่า ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคปอดทั้งหมดจำนวน 246 คน อายุเฉลี่ย 43.0 ± 18.3 ปี
แบ่งเป็นกลุ่มแยกห้องนอนกับผู้ป่วยร้อยละ 69.5 (95%CI = 63.3-75.2) เพศชายมีอัตราการแยกห้องนอนมากกว่าเพศหญิงร้อยละ 75.0 กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีอัตราการแยกห้องนอนมากกว่ากลุ่มอายุอื่นร้อยละ 77.4จากการวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเดี่ยวพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการป้องกันวัณโรคโดยการแยกห้องนอนของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยเป็นสามี/ภรรยา (OR = 12.8; 95%CI = 6.4-25.8) นอนห้องเดียวกับผู้ป่วยก่อนผู้ป่วยรักษาวัณโรค (OR = 86.4; 95%CI = 44.0-1605.5) ไม่ดื่มสุรา
(OR = 1.8; 95%CI = 1.0-3.4) เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยก่อนผู้ป่วยได้รับการรักษา (OR = 13.6; 95%CI = 4.2-7.0)เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยขณะผู้ป่วยได้รับการรักษา (OR = 11.1; 95%CI = 3.4-57.0) เคยไปตรวจเอกซเรย์ปอดใน 6 เดือนที่ผ่านมา (OR = 1.9; 95%CI = 1.1-3.4) ความรู้ระดับปานกลาง-ต่ำของผู้สัมผัสร่วมบ้าน (OR = 0.5; 95%CI = 0.2-0.9) ระดับพฤติกรรมการป้องกันวัณโรคของผู้สัมผัสร่วมบ้านปานกลาง-ต่ำ (OR = 6.9; 95%CI =2.8-20.4) เมื่อวิเคราะห์ตัวแปรการถดถอยพหุ พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการป้องกัน
วัณโรคของผู้สัมผัส ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่พอใช้ (ORadj= 2.9; 95%CI = 1.1-8.0) นอนห้องเดียวกับผู้ป่วยก่อนผู้ป่วยรักษาวัณโรค (ORadj= 290.1; 95%CI = 58.9-1428.3) เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยขณะผู้ป่วยได้รับ การรักษา (ORadj= 8.6; 95%CI = 1.6-43.9) ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคระดับปานกลาง-ต่ำของผู้สัมผัสร่วมบ้าน(OR = 0.2; 95%CI = 0.1-0.5)
จากผลการศึกษา เสนอแนะว่าในพื้นที่ที่มีผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ป่วยวัณโรคปอดเป็นจำนวนมาก ควรมีการคัดกรองวัณโรคในผู้สัมผัสร่วมบ้านทุกราย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังนอนร่วมห้องกับผู้ป่วยวัณโรคขณะที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา การป้องกันวัณโรคจะต้องเน้นการป้องกันในครอบครัวของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สัมผัสใกล้ชิดที่อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและสมาชิกในบ้าน การจัดกิจกรรมสุขศึกษาให้กับผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคและป้องกันการแพร่เชื้อต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-15