รูปแบบการสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนในผู้ป่วยเอดส์ ที่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส

ผู้แต่ง

  • สุวรรณา บุญยะลีพรรณ Faculty of Nursing, Khon Kaen University
  • วงศา เลาหศิริวงศ์ Faculty of Public Health, Khon Kaen University
  • เจียมจิต แสงสุวรรณ Faculty of Nursing, Khon Kaen University

คำสำคัญ:

การสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตน, ผู้ป่วยเอดส, การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ โดยใช้ทฤษฎีสมรรถนะแห่งตนของ Bandura ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึง กันยายน 2552 โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากร /เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น บุคลากรโรงพยาบาลบ้านไผ่และผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรงพยาบาลบ้านไผ่ จำนวน 11, 51, 9 และ 32 คน ตามลำดับ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการสังเกต สัมภาษณ์เจาะลึก สนทนากลุ่ม และทบทวนบันทึกรายงาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา แสดงค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบข้อมูลก่อนและหลังการดำเนินการโดยใช้สถิติ Paired-t-test ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหาผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของผู้ป่วยเอดส์ที่รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ที่พัฒนาขึ้นนั้นประกอบด้วย 10 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) นโยบาย 2) ทีมสหสาขาวิชาชีพ 3) บริการยาต้านไวรัส
เอดส์แบบครบวงจร 4) การให้คำปรึกษา 5) โทรศัพท์สายด่วน 6) การเยี่ยมบ้าน 7) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ 8) ผู้ดูแลผู้ป่วย 9) การฝึกทักษะที่จำเป็นรวมทั้งงานอาชีพ และ 10) การประเมินผล เมื่อได้ดำเนินการตามรูปแบบที่พัฒนาพบว่า สมรรถนะแห่งตนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) โดยค่าเฉลี่ยสมรรถนะแห่งตนของผู้ป่วยเอดส์ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเพิ่มขึ้นจาก 52.69เป็น 83.41 และที่โรงพยาบาลบ้านไผ่ เพิ่มขึ้นจาก 39.96 เป็น 84.88 ดังนั้น รูปแบบการสร้างเสริมสมรรถนะแห่งตนของผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัสเอดส์นี้ควรได้รับการขยายสู่หน่วยบริการสุขภาพอื่นต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-15