กรณีศึกษา:ผู้ป่วยโรคคอตีบในโรงพยาบาลเลย ช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน พ.ศ.2555

ผู้แต่ง

  • พัชราภา รัตนพูนกิจ Department of Medicine LoeiHospital

บทคัดย่อ

โรคคอตีบนับว่าเป็นโรคระบาดที่ไม่ค่อยได้พบหลังจากได้มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรค  แต่ในช่วงที่ผ่านมาประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ.2555ได้เริ่มมีการระบาดในพื้นที่จังหวัดเลย โดยเฉพาะในอำเภอด่านซ้ายที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคและมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้  จึงได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลยที่สงสัยโรคคอตีบและรายงานผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเป็นโรคคอตีบ เพื่อให้ทราบถึงการแพร่ระบาด ความรุนแรงของโรค การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยโรค  และวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค  เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลยที่สงสัยโรคคอตีบ ที่มาด้วยอาการไข้ เจ็บคอ และตรวจพบแผ่นฝ้าบริเวณต่อมทอนซิลตามนิยามสำนักระบาดวิทยาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เก็บข้อมูลผู้ป่วยจากเวชระเบียนผู้ป่วยในและเวชระเบียนผู้ป่วยนอกได้แก่ เพศ อายุ ภูมิลำเนา ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ อาการและอาการแสดง ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษา และผลการรักษา พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 14 ราย อายุระหว่าง 12 วัน ถึง 39 ปี อายุเฉลี่ย 19 ปี เพศชาย 5 ราย เพศหญิง 9 ราย ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาด้วย DAT และยาปฏิชีวนะ เป็นผู้ป่วยที่ยืนยันโรคคอตีบจริง 3 ราย และผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มน่าจะเป็นโรคคอตีบ 11 ราย ในจำนวนผู้ป่วยที่ยืนยันโรค 3 ราย เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 1 ราย, ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบแน่นอน 1 ราย และไม่แน่ใจเรื่องการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายระบบและเสียชีวิต ส่วนผู้ป่วยอีกสองรายตอบสนองต่อการรักษาและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล สามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ การดูแลรักษาผู้ป่วยที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการได้รับวัคซีนป้องกันโรค ช่วยลดอัตราการเกิดโรค ลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13