การศึกษาปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อหนองในและคลามัยเดียในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศจากคลินิกกามโรคเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • อรวรรณ แจ่มจันทร์ Office of Disease Prevention and Control 6 Khon Kaen Province
  • สหชัย ระดาเขต Khon Kaen Hospital
  • อร่าม สุวรรณโน Khon Kaen Hospital

คำสำคัญ:

ปัจจัยเสี่ยง, หนองใน, คลามัยเดีย, หญิงขายบริการทางเพศ

บทคัดย่อ

ปัจจุบันพบว่าอัตราการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มอายุ อาชีพ  ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เชื้อที่พบมีแนวโน้มสูงขึ้น คือโรคหนองในและหนองในเทียมจากสาเหตุเชื้อคลามัยเดีย  ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อหาการติดเชื้อหนองใน/คลามัยเดียในกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศที่มาใช้บริการคลินิกกามโรคเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลขอนแก่นและหาปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคดังกล่าว เพราะกลุ่มหญิงขายบริการทางเพศเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อหนองใน/คลามัยเดีย และแพร่เชื้อไปสู่ผู้มาใช้บริการทางเพศได้  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวางเชิงวิเคราะห์ (Cross-sectional Analytical Study) โดยกลุ่มเป้าหมายคือหญิงขายบริการทางเพศที่มาใช้บริการคลินิกกามโรคเคลื่อนที่ของโรงพยาบาลขอนแก่นที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการทำการศึกษาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 ถึง 30 กันยายน 2553จำนวน141 คน (382ครั้ง หนึ่งคนสามารถมารับการตรวจได้หลายครั้ง) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์ และการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากสารคัดหลั่งจากช่องคลอด(Vaginal discharge) เพื่อตรวจหาเชื้อหนองใน/คลามัยเดียโดยวิธีทางชีวโมเลกุลใช้วิธี Polymerase Chain Reaction(PCR)  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา นำเสนอด้วย ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ยและร้อยละในการอธิบายข้อมูลทั่วไป ส่วนการหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับการเกิดโรคใช้สถิติ 2 test ผลการศึกษาพบการติดเชื้อหนองในจำนวน 5 คน (ร้อยละ 3.55) ติดเชื้อคลามัยเดียจำนวน 24 คน (ร้อยละ 17.02) เมื่อศึกษาเชิงลึกพบว่าหญิงขายบริการทางเพศที่ติดเชื้อหนองในร้อยละ 40.0 มีการติดเชื้อหนองในซ้ำหลังจากที่รักษาหายแล้วและหญิงขายบริการทางเพศ ร้อยละ 8.69 มีการติดเชื้อคลามัยเดียซ้ำหลังจากที่รักษาหายแล้ว  ส่วนปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค คือ  สถานภาพสมรส การมีอาการตกขาวมาก/ตกขาวมีกลิ่น/คันในช่องคลอดแล้วซื้อยาตามร้านมากินเองมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหนองในอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < 0.001)  ปัจจัยด้านการรู้จักโรคหนองในและหนองในเทียมมีความสัมพันธ์กับโรคหนองในเทียมจากเชื้อคลามัยเดีย(p = 0.026)  จากการศึกษาจะเห็นว่าการติดเชื้อหนองใน/คลามัยเดียในกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างสูง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ค่อนข้างสะดวก แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐได้ยากเช่น แรงงานต่างด้าว ชายรักชาย ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปดูแลด้วย จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้เรื่องโรคและการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคเป็นอย่างดีแต่ยังพบการติดเชื้อซ้ำหลังจากรักษาหายแล้วค่อนข้างสูง ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคงต้องสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเป้าหมายให้มากหรือเข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13