การสนับสนุนจากองค์การที่มีผลต่อการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • สิทธิพร นามมา The Office of Disease Prevention and Control 6thKhon Kaen
  • สุรศักดิ์ ฆ้องปรุง Mahasarakham Provincial Public Health Office

คำสำคัญ:

การสนับสนุนจากองค์การ, การปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา แบบภาคตัดขวาง  (Cross Sectional Descriptive Research)  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสนับสนุนจากองค์การที่มีผลต่อการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดมหาสารคาม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก จำนวน 175 คน โดยผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากตัวอย่าง 175 คน  ตรวจสอบความตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน และตรวจสอบความเที่ยงของแบบประเมินการสนับสนุนจากองค์การ ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาช 0.95 และสัมภาษณ์เชิงลึกจากตัวอย่าง 12  คน ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555  ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ แจกแจงข้อมูลด้วยความถี่ และ ร้อยละ พรรณาข้อมูลต่อเนื่องด้วยค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ระหว่าง และ ด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และหาความสัมพันธ์แบบหลายตัวแปรระหว่างและ ด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

                ผลการวิจัยพบว่า ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 56.0 อายุระหว่าง 22-30 ปี ร้อยละ 35.4 อายุเฉลี่ย 36 ปี อายุต่ำสุด 22 ปี อายุสูงสุด 60 ปี สถานภาพสมรส คู่ ร้อยละ 61.1 ระดับการศึกษา ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าร้อยละ 85.7  รายได้น้อยกว่า  15,000  บาท ร้อยละ 30.3 รายได้เฉลี่ย  21,513  บาทต่อเดือน ประสบการณ์การปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก น้อยกว่า 5  ปี  ร้อยละ 37.1 เฉลี่ย 10.62  ปี

                การสนับสนุนจากองค์การ พบว่า ในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมีการสนับสนุนจากองค์การอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.84 (S.D.= 0.52) มีการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 4.07 (S.D.= 0.53) การสนับสนุนจากองค์การ มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในระดับสูงทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (r = 0.57, p-value < 0.001)  และตัวแปรที่สามารถร่วมพยากรณ์ผลการปฏิบัติงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ปัจจัยด้านการบริหาร และปัจจัยด้านวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งปัจจัยทั้ง 2  ด้าน สามารถร่วมกันพยากรณ์ผลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดมหาสารคาม ได้ร้อยละ 55.9

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-13