พฤติกรรมในการเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อ และ ภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วิชุตา สมจิตร Faculty of Public Health, Khon Kaen University
  • ณิตชาธร ภาโนมัย Faculty of Public Health, Khon Kaen University

คำสำคัญ:

พฤติกรรมในการเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทาน, ร้านสะดวกซื้อ, ภาวะโภชนาการ, นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา พฤติกรรมในการเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อ และภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4-6 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ได้แก่ โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนกัลยาณวัตร โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย และโรงเรียนขามแก่นนคร จำนวน 726 คน โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา, สถิติเชิงอนุมาณ ไค-สแควร์ (Chi-Square Test) ในการหาความสัมพันธ์ของตัวแปรเชิงกลุ่ม และใช้โปรแกรมสำเร็จรูป INMU Thai Growth ในการประเมินภาวะโภชนาการของนักเรียน

          ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมในการบริโภคอาหารพร้อมรับประทานนักเรียนบริโภค มากที่สุดคือ ข้าวกล่อง (อีซี่โก) ร้อยละ 37.33 ปัจจัยด้านสังคมที่ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารจากร้านสะดวกซื้อ คือ เพื่อนของนักเรียนบริโภคอาหารพร้อมรับประทานสม่ำเสมอและแบ่งให้นักเรียนรับประทานด้วย ร้อยละ 68.18 ปัจจัยด้านข้อมูลข่าวสารในการเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อของนักเรียนพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาหารพร้อมรับประทานในเรื่อง ชนิด ประเภท ราคา การส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) จากสื่อโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 75.62 ปัจจัยด้านจิตวิทยาพบว่า นักเรียนมีความรู้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้อความรู้ที่นักเรียนตอบถูกมากที่สุดคือ อาหารพร้อมรับประทานทุกชนิดจำเป็นต้องมีเลขสารบบกำกับอยู่ด้วยทุกครั้งร้อยละ 82.51 ด้านทัศนคติพบว่า นักเรียนมีทัศนคติในระดับสูง มีคะแนนเฉลี่ยมากที่สุดคือ ควรสังเกตฉลากโภชนาการที่กำกับอยู่ภายบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารพร้อมรับประทานเสมอมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.35 ปัจจัยทางส่วนประสมตลาด ในด้านผลิตภัณฑ์, ด้านราคา, ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และด้านการส่งเสริมการตลาดที่มีระดับความสำคัญที่มากที่สุดคือ รสชาติอาหารถูกใจผู้บริโภค, ราคาเหมาะสมสำหรับผู้บริโภค, มีบริการไมโครเวฟสำหรับการรับประทานในเวลาที่รวดเร็ว และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ตามลำดับ และภาวะโภชนาการของนักเรียน ส่วนใหญ่มีภาวะโภชนาการในเกณฑ์สมส่วน ร้อยละ 69.83 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการเลือกซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้แก่ ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยทางจิตวิทยาด้านความรู้  ปัจจัยทางจิตวิทยาด้านข้อมูลข่าวสารและด้านทัศนคติ ปัจจัยส่วนประสมตลาด ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-04