การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อส่งเสริมระบบคัดกรองตั้งแต่แรกเริ่ม ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • นีรนุช เสียงเลิศ Phanomphrai Hospital

คำสำคัญ:

การพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน, มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก, แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์

บทคัดย่อ

ปัจจุบันสถานการณ์โรคมะเร็งกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการป้องกันแก้ไขของประเทศ

ไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งอำเภอพนมไพรได้ทำการ ศึกษาอุบัติการณ์ของโรคพบอุบัติการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงถึง 11.5 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าอุบัติการณ์ระดับประเทศ การป้องกันและแก้ไขก่อนเกิดโรคหรือก่อนระยะลุกลามจึงเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติตัว) และศึกษาผลการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ร่วมกับการสร้างและใช้เครื่องมือแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ มาดำเนินการศึกษา เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ แบบสอบถาม และเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย  ประธาน อสม. และอสม. จำนวน 57 คน เลือกพื้นที่แบบเจาะจง เก็บรวมรวมข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2556 – พฤษภาคม  2557 ตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ หาค่าความเที่ยงแบบทดสอบความรู้ด้วยวิธีของคูเดอร์-ริชาร์ดสันสูตร KR-20 ได้ค่าเท่ากับ 0.75  และหาค่าความเที่ยงของแบบทดสอบด้านทัศนคติและการปฏิบัติตัวโดยวิธีการของ ครอนบาค (Cronbach’s Method) ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า (Coefficient of Alpha)  ได้ค่าเท่ากับ 0.71 และ 0.76 ตามลำดับ เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้แนวทางการสนทนากลุ่ม  แบบสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม แบบติดตามประเมินโครงการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังพัฒนาด้วยสถิติ Paired t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธี การวิเคราะห์เนื้อหา

                   ผลการวิจัย พบว่า หลังการพัฒนาแกนนำชุมชน มีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ            มีค่าเฉลี่ยคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) เกิดโครงการ 4 โครงการ 1 กิจกรรม ได้แก่               1)โครงการประกวดหมู่บ้านตัวอย่างบริโภคปลอดภัย 2)โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายสลายพฤติกรรมเสี่ยง 3)โครงการหอกระจายข่าวเตือนภัยห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4)โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเตือนภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 5)กิจกรรมพัฒนาทักษะจิตอาสาร่วมให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวาหนัก ผลการพัฒนาทักษะแกนนำชุมชนด้วยแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์เกิดการเรียนรู้การวางแผนชุมชนสู่โครงการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาและยุทธศาสตร์การพัฒนาของพื้นที่ ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานในระดับชุมชนส่งผลต่อการสร้างความตระหนักของกลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกเริ่ม

               ข้อเสนอแนะควรมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ด้านความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคร่วมกับการสร้างและใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมป้องกันโรคอื่นๆ เพื่อให้เกิดแกนนำที่มีศักยภาพนำสู่การปฏิบัติที่เชื่อมโยงสภาพปัญหาด้านสุขภาพ นโยบาย และการพัฒนา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-04