ความชุกและปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ จังหวัดเลย ปี 2556

ผู้แต่ง

  • อังษณา ยศปัญญา Loei Provincail Public Health Office
  • สุพรรณ สายหลักคำ Vector-born Disease Control, Loei Province
  • บุญจันทร์ จันทร์มหา Office of Disease Prevention and Control 6 ,Khon Kaen Province

คำสำคัญ:

ความชุกพยาธิใบไม้ตับ, พฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ใช้วิธีการศึกษาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional analytic study)  เพื่อศึกษาความชุกพยาธิใบไม้ตับ  พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  และปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จังหวัดเลย ปี 2556  โดยใช้วิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบ 30 Cluster sampling ในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ได้ขนาดตัวอย่าง 595 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม    และเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจหาไข่พยาธิด้วยวิธีการ Modified Kato Kazt วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอ้างอิง เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคโดยใช้ Chi-square test , Odds. ratio and multiple logistic regression analysis  กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติ 0.05 และช่วงเชื่อมั่นร้อยละ 5

ผลการศึกษาพบว่า   กลุ่มตัวอย่างติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 15.63  เป็นเพศชาย

ร้อยละ 64.51  และเพศหญิงร้อยละ 35.49  อายุเฉลี่ย 43 ปี  กลุ่มอายุ 50- 59 ปี ติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับสูงสุดร้อยละ 22.50  ระดับความรุนแรงของการติดเชื้อวัดจากจำนวนไข่พยาธิต่อน้ำหนักอุจจาระ 1 กรัม การติดเชื้อต่ำอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 97.84)  กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 46.90) และมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่อง  การกินยาเพื่อป้องกันการเกิดโรค  และยารักษาโรคพยาธิใบไม้ตับ ว่าสามารถรับประทานได้บ่อยๆไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ร้อยละ 64.70 และร้อยละ 56.10  ความเชื่อด้านสุขภาพ ได้แก่ การรับรู้โอกาสเสี่ยง  ความรุนแรงของโรค  ประโยชน์ของการรักษาและป้องกันตลอดจนอุปสรรคในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับอยู่ในระดับปานกลาง  กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ  และมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารหมักดองที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีร้อยละ 52.60 และร้อยละ 93.78  ความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ    กลุ่มตัวอย่างไม่เคยคิดเลิกการบริโภคลาบปลาดิบ และก้อยปลาดิบร้อยละ 12.40 และร้อยละ 10.90   ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี และพยาธิใบไม้ตับ  คือ  การบริโภคปลาส้มดิบ (OR.= 5.36 ,95%CI.2.54 : 11.29)  และการกินปลาร้าดิบ (OR, 2.96, 95%CI.1.98 : 8.92)   การวิจัยนี้พบว่า ประชาชนจังหวัดเลยยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี  การที่จะลดอัตราป่วยและตายจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี   ควรจะส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้สอดคล้องกับปัญหาและวิถีชีวิตของชุมชน 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-04