ประสิทธิผลของปลาในการกินลูกน้ำยุงลาย

ผู้แต่ง

  • กองแก้ว ยะอูป Office of Disease Prevention and Control 6th Khon Kaen
  • บุญส่ง กุลโฮง Office of Disease Prevention and Control 6th Khon Kaen
  • พรทวีวัฒน์ ศูนย์จันทร์ Office of Disease Prevention and Control 6th Khon Kaen

คำสำคัญ:

ลูกน้ำยุงลาย, ปลา, ประสิทธิผล

บทคัดย่อ

การใช้ปลากินลูกน้ำยุงลายเป็นมาตรการสำคัญและเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ได้ผลดีแทนการใช้สารทีมีฟอส การศึกษาวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi-Experimental Study) ครั้งนี้เป็นการศึกษาประสิทธิผลถึงความสามารถในการกินลูกน้ำยุงลาย Aedes aegypti ของปลาแต่ละชนิด ปลาที่ใช้ทดสอบมี 12 ชนิดคือ ปลานิล ปลาหางนกยูง ปลาหมอ ปลากัดจีน ปลากระดี่ ปลาสอดแดง ปลาเทวดา ปลาทอง ปลาแกมบูเซีย ปลากริม ปลาบู่ และปลาซิว ชนิดละ 3 ตัว ทำการชั่งน้ำหนักปลาทุกตัวก่อนใส่ลงในภาชนะแก้วใสทรงสี่เหลี่ยมสำหรับทดสอบที่มีน้ำปริมาตร  2 ลิตร แล้วใส่ลูกน้ำยุงลายระยะที่ 3 ตอนปลายหรือวัยที่ 4 ตอนต้นจำนวน 25 ตัวต่อครั้ง สังเกตถ้าปลากินลูกน้ำหมดก็เติมลูกน้ำลงไปเรื่อยๆ จนครบเวลา 12 ชั่วโมงตักลูกน้ำที่เหลือออก นับจำนวนลูกน้ำที่ปลากินทั้งหมดโดยเริ่มทดลองตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. ทำการทดลองติดต่อกัน 5 วัน หาค่าเฉลี่ยความสามารถของปลาในการกินลูกน้ำ

ผลการทดลอง พบว่า ปลานิล ปลาหางนกยูง ปลาหมอ ปลากัดจีน ปลากระดี่ ปลาสอดแดง ปลาเทวดา ปลาทอง ปลาแกมบูเซีย ปลากริม ปลาบู่ และปลาซิว สามารถกินลูกน้ำยุงลายมีค่าเฉลี่ย 218.85, 176.15, 131.15, 120.29, 105.68, 94.60, 69.18, 65.35, 63.12, 59.33, 43.22 และ 41.29 ตัว/วัน/น้ำหนักปลา 1 กรัม ตามลำดับ ปลาที่สามารถกินลูกน้ำได้มากที่สุดคือปลานิล รองลงมาคือปลาหางนกยูง  จากผลการศึกษาข้างต้นจะเห็นว่าปลาทุกชนิดมีความสามารถในการกินลูกน้ำยุงลายได้ ปริมาณการกินจำนวนมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดแต่ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและความสามารถในการกินเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักตัวเท่ากัน การศึกษาครั้งนี้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์ในการเลือกชนิดของปลาที่นำไปใช้ควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายแบบชีวภาพและเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีและนิยมใช้กัน

ดังนั้นการเลือกใช้ปลาควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของภาชนะที่ใช้และปลาควรหาได้ง่ายในพื้นที่ ซึ่งการใช้ปลาจึงมีความปลอดภัยทั้งยังลดปริมาณการใช้สารเคมีทำให้ประหยัดงบประมาณในการซื้อสารเคมีมาใช้อีกด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการชะลอการดื้อยาของยุงลายต่อสารเคมีในพื้นที่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02