การสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีพ.ศ.2554-2557

ผู้แต่ง

  • ไสว โพธิมล Centre for Vector Borne DiseasesControl 6.2 Udonthaniprovince
  • สุภาภรณ์ โคตรมณี Centre for Vector Borne DiseasesControl 6.2 Udonthaniprovince

คำสำคัญ:

ลูกน้ำยุงลาย, แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

บทคัดย่อ

โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขของจังหวัดอุดรธานีมาเป็นเวลานาน การควบคุมโรคเน้นมาตรการสำคัญกับการควบคุมยุงลายพาหะนำโรค โดยเฉพาะการจัดการกับแหล่งเพาะพันธุ์เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายต่อการกำจัดลูกน้ำยุงลาย  ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเฝ้าระวังความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี   ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่  6.2  อุดรธานี  ได้ดำเนินการสำรวจลูกน้ำโดยวิธีVisual larval survey ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ปี พ.ศ.2554-2557  สำรวจ2  ครั้ง ต่อปี สำรวจครั้งที่  1  เดือนมกราคม-มีนาคม  (ช่วงก่อนฤดูกาลระบาดไข้เลือดออก) สำรวจครั้งที่  2  เดือนเมษายน-มิถุนายน (ช่วงฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก) ทำการรวบรวมข้อมูล แล้ววิเคราะห์โดยใช้สถิติร้อยละพบว่า  สำรวจครั้งที่  1 ร้อยละของบ้านที่สำรวจพบลูกน้ำยุงลายเท่ากับ 12.60 ร้อยละของภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลายเท่ากับ 3.83 จำนวนภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลายต่อบ้าน 100 หลังคาเรือนเท่ากับ  15.12 และจำนวนภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลายต่อประชากรในพื้นที่ เท่ากับ  42.22   ภาชนะที่พบลูกน้ำยุงมากที่สุดช่วงก่อนฤดูกาลระบาด  คือ  ถ้วยรองขาตู้กันมด  คิดเป็นร้อยละ  13.89  รองลงมาได้แก่  จานรองกระถางต้นไม้ และแจกันดอกไม้  คิดเป็นร้อยละ  9.84และ 8.87 ตามลำดับ สำรวจครั้งที่  2  พบว่า ร้อยละของบ้านที่สำรวจพบลูกน้ำยุงลาย  เท่ากับ  10.79  ร้อยละของภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลาย  เท่ากับ  3.40  จำนวนภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลายต่อบ้าน 100 หลังคาเรือนเท่ากับ  11.75  และจำนวนภาชนะขังน้ำที่พบลูกน้ำยุงลายต่อประชากรในพื้นที่ เท่ากับ  39.59   ภาชนะที่พบลูกน้ำยุงมากที่สุดช่วงฤดูกาลระบาด  คือ ภาชนะอื่นที่ไม่ใช้  (เช่น ถาดรองน้ำเครื่องทำน้ำเย็น)   คิดเป็นร้อยละ  10.38  รองลงมาคือ  ยางรถยนต์ และถ้วยรองขาตู้กันมด คิดเป็นร้อยละ  9.90และ 9.16ตามลำดับ  การป้องกันโรคไข้เลือดออกล่วงหน้า  โดยการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย  ทั้งภายในบ้านและนอกบ้านช่วงเวลาที่สำคัญที่ควรดำเนินการคือช่วงเดือน  มกราคม-เมษายน  ของทุกปี  เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายน้อย  เป็นช่วงโอกาสการแพร่โรคน้อยที่สุด  และจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ที่อาจเกิดมากขึ้นในช่วงฤดูกาลระบาดของโรค โดยดำเนินการมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02