ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานจังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • สมพร ขามรัตน์ Suwannaphum District Health Office
  • พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ Faculty of Public Health Khon Kaen University
  • กรรณิการ์ ตฤณวุฒิพงษ์ The Office of Disease Prevention and Control 6th, Khon Kaen

คำสำคัญ:

วัณโรคปอด, เบาหวาน

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ Unmatched case-control เพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวาน ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 7 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 กลุ่มศึกษา คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยเป็นวัณโรคปอด จำนวน 107 ราย และกลุ่มควบคุม คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่เป็นวัณโรคปอด จำนวน 214 ราย เก็บข้อมูลด้วย
แบบสัมภาษณ์และแบบคัดลอกข้อมูลจากเวชระเบียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป คือ สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์หาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจิสติก (Multiple logistic regression) รายงานขนาดความสัมพันธ์ด้วยค่า Adjusted odds ratio (ORadj) และช่วงเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 (95% CI)

                 ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการป่วยวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติที่ P-value < 0.05 ได้แก่ เพศชาย (ORadj=2.57; 95% CI = 1.08-6.13) ค่าดัชนีมวลกาย(BMI) <18.5 กก./ม2 (ORadj=3.11; 95% CI = 1.23-7.90) การดื่มแอลกอฮอล์ (ORadj=2.58; 95% CI = 1.10-6.07) การออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (ORadj=2.27; 95% CI = 1.24-4.24) ระยะเวลาที่ป่วยเป็นเบาหวาน ≥ 5 ปี (ORadj=2.05; 95% CI = 1.04-4.04) ระดับ HbA1C > 7% (ORadj=2.34; 95% CI = 1.19-4.59)
มีผู้ป่วยวัณโรคอยู่ร่วมบ้าน (ORadj=6.30; 95% CI = 2.93-13.52) สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคในชุมชน (ORadj=6.09; 95% CI = 2.51-14.77) และครอบครัวที่มีสมาชิกมากกว่า 4 คน (ORadj=3.69; 95% CI = 1.98-6.90)

                 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ควรมีแนวทางการคัดกรองวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวานให้ครอบคลุมทุกปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน และควรส่งเสริมการให้ความรู้ การป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย มีระบบในการเฝ้าระวังและคัดกรองหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในชุมชนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการแพร่เชื้อในชุมชนต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02