ปัจจัยส่วนบุคคลและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์กับการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ ในเขตอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ
คำสำคัญ:
ปัจจัยส่วนบุคคล, พฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำบทคัดย่อ
สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่างซึ่งจะส่งผลต่อภาวะสุขภาพของประชาชน หากทราบถึงปัญหาและสาเหตุจะช่วยให้สามารถวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (cross-sectional descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราความชุกของการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในพื้นที่ และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์กับการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ กลุ่มตัวอย่างคือประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในเขตอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 210 คน สุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง(Purposive Quota sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติอนุมานMultiple logistic regression
ผลการศึกษาพบว่า อัตราความชุกของการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำของประชาชน คือร้อยละ 24.8 (Prevalence rate 24.8; 95% CI : 18.9,30.6)และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ คือการสูบบุหรี่เป็นประจำ (OR = 19.98; 95% CI: 6.27, 63.68)การกินลาบดิบหรือก้อยปลาดิบเป็นประจำ (OR = 7.95, 95% CI: 2.61, 21.8)ส่วนผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย กลับมีการดื่มน้อยลง (OR = 0.21; 95% CI: 0.08,0.54) ไม่พบว่าปัจจัยส่วนบุคคลมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ การแก้ไขปัญหาการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องให้ความสำคัญกับการเลิกบุหรี่และการกินอาหารประเภทลาบ หรือก้อยปลาดิบ การรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเป็นวิธีการที่จะนำมาปฏิบัติ
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น