ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน ของประเทศไทย: การวิเคราะห์เมตา

ผู้แต่ง

  • กิตศราวุฒิ ขวัญชารี Faculty of Public Health, KKU
  • พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ Faculty of Public Health, KKU
  • กรรณิการ์ ตฤณวุฒิพงษ์ The Office of Disease Prevention and Control 7th Khon Kaen

คำสำคัญ:

วัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, การวิเคราะห์เมตา

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์เมตาเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อในผู้ป่วยเบาหวานของประเทศไทย โดยสืบค้นงานวิจัยจากฐานข้อมูลวิจัยออนไลน์ ห้องสมุดออนไลน์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ จำนวนทั้งสิ้น 7 รายงาน วิเคราะห์เมตาด้วยโมเดลแบบคงที่ ด้วยวิธีของ Mantel Haenszel และวิเคราะห์โมเดลแบบสุ่มด้วยวิธีของ Dersimonian & Laird weighting นำเสนอด้วยค่า Pooled Odds Ratio (POR) ที่ระดับช่วงเชื่อมั่น 95% (95%CI)

          ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการป่วยวัณโรคปอดเสมหะพบเชื้อในผู้ป่วยเบาหวานของประเทศไทย มี 10 ปัจจัย ได้แก่ มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน (POR = 6.08; 95%CI = 3.61 - 10.25)    เคยสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค (POR = 4.07; 95%CI = 2.73 - 6.06) มีระดับ HbA1c ≥ 7.0% (POR = 4.76; 95%CI = 3.45 - 6.58) เคยเข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาล (POR = 3.44; 95%CI = 1.44 - 8.33) อาศัยในชุมชนแออัด (POR = 2.44; 95%CI = 1.62 - 3.68) ดื่มแอลกอฮอล์ (POR = 2.21; 95%CI = 1.44 - 3.41) สูบบุหรี่ (POR = 2.03; 95%CI = 1.64 - 2.51) ระยะเวลาป่วย ≥10ปี (POR = 1.97; 95%CI = 1.40 - 2.78) รายได้ของผู้ป่วย ˂ 5,000 บาทต่อเดือน (POR = 1.89; 95%CI = 1.41-2.54) และมีความเครียดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (POR = 1.70; 95%CI = 1.16 - 2.48)

          จากการศึกษาควรตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน เคยสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค มีระดับ HbA1c ≥ 7.0% เพื่อขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้ได้รับการรักษาทันเวลาและลดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนของประเทศไทย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27