การพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาว ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตามแนวทางการบันทึกความร่วมมือ

ผู้แต่ง

  • ชื่นพันธ์ วิริยะวิภาต The Office of Disease Prevention and Control 6th khonKean
  • ศศิธร ตั้งสวัสดิ์ The Office of Disease Prevention and Control 6th Khon Kean
  • สุพัตรา สิมมาทัน The Office of Disease Prevention and Control 6th Khon Kean

คำสำคัญ:

แนวทางบันทึกความร่วมมือ, ระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรค, ชายแดน

บทคัดย่อ

   การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคายตามแนวการบันทึกความร่วมมือ โดยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา แบ่งระยะการศึกษาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาการบันทึกความเข้าใจ หรือการบันทึกความร่วมมือ ดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาว  มี 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1)  วิเคราะห์สถานการณ์ของการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย 2) พัฒนาความร่วมมือ ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย จำนวน 30 คน และตัวแทนจากนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ และแขวงไชยะบุรีของสปป.ลาว  จำนวน 20 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการอภิปรายกลุ่ม ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554  ถึง กันยายน พ.ศ. 2555  และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา และระยะที่ 2 พัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย มี 2 ขั้นตอน  1) พัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และ 2) ทดลองและประเมินการใช้ระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ประชากรศึกษาคือ ผู้รับผิดชอบงานวัณโรคสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย ผู้รับผิดชอบงานวัณโรคของโรงพยาบาลเอกชนจำนวน 18 แห่ง และผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ได้แก่ ประเด็นการอภิปรายกลุ่ม แบบสอบถาม และแบบประเมินคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติพรรณนา และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

  • การบันทึกความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วย ประเด็นการอ้างถึง ได้แก่ กรอบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และกรอบนโยบายระดับท้องถิ่น ประเด็นการรายงานโรค รายงานตาม MBDS: Mekhong Basin Disease Surveillance และประเด็นกลไกการประสานงาน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยวัณโรค การจัดทำระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ข้ามช่องทางเข้าออกประเทศด่านพรมแดนหนองคาย  โดยมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนวิชาการ/ติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันปีละ 2 ครั้ง  โดยผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม
  • การพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตามแนวการบันทึกความร่วมมือใน 4 องค์ประกอบ คือ 1) ด้านปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาว  การกำหนดขอบเขตการป้องกันควบคุมวัณโรคชายแดน  การกำหนดเครื่องมือและวิธีการป้องกันควบคุมวัณโรคชายแดน  การกำหนดบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  การกำหนดระยะเวลาของการดำเนินงาน และการนำผลจากการป้องกันควบคุมวัณโรคชายแดนไปใช้  2) ด้านกระบวนการ ประกอบด้วย  การวางแผนกระบวนการ  ดำเนินงานตามแผน  และประเมินผลกระบวนการ 3) ด้านผลผลิตของระบบ  ประกอบด้วย บันทึกความร่วมมือ การรายงานผู้ป่วยวัณโรค  และความพึงพอใจต่อระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และ 4) ด้านการให้ข้อมูลสะท้อนกลับ  และการประเมินคุณภาพของระบบตาม 4 มาตรฐาน ประกอบด้วย ด้านความถูกต้อง ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านการใช้ประโยชน์   
  • ผลการประเมินระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตามแนวทางการบันทึกความร่วมมือ พบว่า ก่อนพัฒนาระบบมีการรายงานผู้ป่วยวัณโรค จำนวน 1 ราย หลังพัฒนาระบบ มีการรายงานเพิ่มขึ้นจำนวน 28 ราย
  • ความพึงพอใจของผู้รับผิดชอบงานวัณโรคต่อระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตามแนวทางการบันทึกความร่วมมือ พบว่าระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจอยู่ในระดับมากขึ้นทุกด้าน
  • คุณภาพของระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาวในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ตามแนวทางการบันทึกความร่วมมือ พบว่าระดับความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณภาพของระบบอยู่ในระดับมากที่สุดทุกมาตรฐาน

            จากผลการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมวัณโรคตามแนวชายแดนไทย-ลาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการสร้างกรอบแนวทางความร่วมมือ เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังโรคที่เป็นปัญหา เช่น  โรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคติดต่อร้ายแรง  เป็นต้น  เพื่อขยายผลเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญหรือโรคติดต่ออันตรายในพื้นที่ชายแดนไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน โดยเชื่อมโยงความสอดคล้องของกรอบนโยบายเกี่ยวกับงานชายแดนระดับภูมิภาค  ระดับประเทศ  ระดับกระทรวง ระดับกรม และระดับพื้นที่  ให้สามารถขับเคลื่อนงานชายแดนอย่างเป็นระบบ  ตลอดจนส่งต่อข้อมูลสารสนเทศไปยังส่วนกลางได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา  ตลอดจนควรมีการประเมินผลยุทธศาสตร์การดำเนินงานชายแดน เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา และสามารถปฏิบัติได้จริง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27