ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • อภิญญา บ้านกลาง Faculty of Nursing, Collage of Asian Scholars
  • อุดมลักษณ์ ดวงผุนมาตย์ Faculty of Nursing, Collage of Asian Scholars
  • ปริศนา รถสีดา Faculty of Nursing, Rangsit University

คำสำคัญ:

พฤติกรรมสุขภาพ, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2, ปัจจัยที่มีผล

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ (Analytical research) แบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional study) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ในพื้นที่รับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2557 ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การคำนวณขนาดตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้  พิจารณาตามรูปแบบการศึกษา และการใช้สถิติวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจีสติค (Multiple logistic regression)ได้ขนาดตัวอย่างไม่น้อยกว่า 111 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 119 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ 0.88 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ไคสแควร์ (Chi square) และ สถิติถดถอยพหุลอจีสติก (Multiple logistic regression)

ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า ปัจจัยด้านสถานะภาพสมรส และระยะเวลาการป่วยเป็นโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์ต่อการปฏิบัติพฤติกรรมของผู้ป่วยเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value =0.026, p value = 0.028) ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจีสติค (Multiple Logistic regression) เพื่อค้นหาปัจจัยพยากรณ์พฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ในพื้นที่รับผิดชอบ รพสต. ศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พบว่า เมื่อควบคุมปัจจัยกวน ปัจจัยที่ร่วมทำนายพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ α = 0.05 ได้แก่ อายุ 60 ปีขึ้นไป และอาชีพว่างงาน สามารถร่วมพยากรณ์ พฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน โดยค่าสัมประสิทธิ์ (B) เท่ากับ 1.135 และ -1.398 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ α = 0.05 P-value 0.033 และ 0.026ตามลำดับ

จากผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในการดูแลตนเองให้เหมาะสมกับโรคเบาหวานในระดับสูง (ร้อยละ 72.27) มีการรับรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานระดับปานกลางและสูง (ร้อยละ 42.86 และ 56.30 ตามลำดับ) ส่วนพฤติกรรมอยู่ในระดับปานกลางและสูง (ร้อยละ 40.34 และ 59.66 ตามลำดับ)  แสดงให้เห็นว่าการมีความรู้ที่ดีอย่างเดียวอาจไม่ได้ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ดังนั้นการพยากรณ์ปัจจัยเสี่ยงนั้น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงปัจจัยด้านการรับรู้เป็นสำคัญ ควรเน้นย้ำให้ผู้รับบริการตระหนักถึงประโยชน์ และโทษของการปฏิบัติพฤติกรรม ช่วยขจัดอุปสรรคที่ผู้ป่วยมองเห็น และเสริมสร้างการรับรู้ความสามารถของตนเอง รวมถึงในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพนั้นควรคำนึงถึงปัจจัยด้านสถานภาพสมรส ระยะเวลาการเจ็บป่วยเป็นโรคเบาหวาน อายุ และอาชีพหรือลักษณะงานของผู้ป่วย เพื่อจะได้ให้คำแนะนำได้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27