การเฝ้าระวังยุงพาหะนำโรคมาลาเรียในพื้นที่สวนยางพาราจังหวัดเลยปี 2555

ผู้แต่ง

  • สุพรรณ สายหลักคำ Center of vector borne disease Control 6.3 th, Loei province
  • กองแก้ว ยะอูป The offce of Disease Prevention and Control 6th Khon Kaen
  • ลักษณา หลายทวีวัฒน์ The offce of Disease Prevention and Control 6th Khon Kaen

คำสำคัญ:

ยุงพาหะโรคมาลาเรีย, สวนยางพารา

บทคัดย่อ

จากมีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2521 ทำให้มีพื้นที่สวนยางพาราเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้มีพื้นที่ป่ามากขึ้นเสี่ยงต่อการเพิ่มปริมาณของยุงก้นปล่องพาหะของโรคมาลาเรีย  โดยเฉพาะจังหวัดเลยที่เคยมีการระบาดของมาลาเรียในอดีต อาจกลับมาระบาดอีกได้

การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวังทางกีฏวิทยาของยุงก้นปล่อง ได้แก่ ชนิด ความหนาแน่น ระยะเวลาเข้ากัดคนของยุงพาหะ ในหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่สวนยางพาราคัดเลือกหมู่บ้านศึกษาแบบเจาะจง คือ หมู่ 5 บ้านน้ำคิว ตำบลเสี้ยว อำเภอเมือง จังหวัดเลย ที่เป็นพื้นที่กรีดยางแล้วเนื้อที่ประมาณ 2,500 ไร่  วิธีการศึกษา คือ จับยุงเข้ากัดคน โดยวิธี landing catch ในบ้านและนอกบ้าน โดยใช้อาสาสมัครเข้าร่วมศึกษา จำนวน 8 คนเก็บข้อมูล 4 ครั้งๆละ 2 วันตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ระยะเวลาศึกษาระหว่างเดือนธันวาคม 2554 ถึง เดือนกันยายน 2555  วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมานด้วย Two samples t-test

ผลการศึกษา พบว่าจับยุงในสวนยางพาราได้ทั้งหมดจำนวน 1,418  ตัว  เป็นยุงก้นปล่องจำนวน  736  ตัว (ร้อยละ 51.90 ) ยุงรำคาญ  จำนวน  268  ตัว ( ร้อยละ 18.90 ) ยุงลาย  จำนวน  31 ตัว ( ร้อยละ 2.19 ) ยุงเสือ  จำนวน  6 ตัว (ร้อยละ 0.42  ตัว ยุงแม่ไก่ จำนวน  377  ตัว ( ร้อยละ 26.59 )   แยกชนิดยุงก้นปล่องเพศเมียทั้งหมดจำนวน 736 ตัว แยกเป็นยุงในบ้าน 512 ตัว (ร้อยละ 69.57) และนอกบ้าน 224 ตัว (ร้อยละ 30.43)   โดยพบยุงพาหะหลักAnopheles minimusมากที่สุด 720 ตัว (ร้อยละ 97.82) รองลงมา คือ Anopheles maculatus groups  และAnopheles dirus พบยุงพาหะสงสัย  2 ชนิด คือAnopheles  barbrirostris และAnopheles campestis ซึ่งยุงAnopheles minimusชอบกัดคนในบ้าน: นอกบ้าน  เฉลี่ย 10.56 : 4.44ครั้งหรือ อัตราส่วน 2.38:1  ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติที่ระดับ .05( 95%CI= 2.01-10.24,p-value=.004) ช่วงเวลาเข้ากัดคนในบ้านสูงสุดคือ 03.00-04.00 น. และ นอกบ้าน คือ 02.00-03.00 น. และเดือนที่พบความหนาแน่นของยุงมากที่สุดคือ เดือนมิถุนายน 2555

 โดยสรุปผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ายุงพาหะหลักโรคมาลาเรียในชุมชนในพื้นที่สวนยางพาราช่วงเวลาที่เข้ากัดคนสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ชาวสวนยางออกกรีดยางพอดี จัดเป็นพื้นที่ไวต่อการแพร่เชื้อ (highly vulnerability)  ดังนั้นแม้ว่ายังไม่พบปัญหาการระบาดของไข้มาลาเรีย  แต่ควรเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้โรคกลับมาอุบัติซ้ำโดยการให้สุขศึกษาแก่ผู้ประกอบอาชีพกรีดยางเรื่องการป้องกันตนเองจากยุงกัด อาทิ การสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด  การใช้สารชุบหรือทาป้องกันยุงกัด และการเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียระบาด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27