โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวต่อการลดการเกิด โรคพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มวัยแรงงาน ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • วีระพล วิเศษสังข์ Faculty of Public Health, Mahasarakham University
  • รติกร ชาติชนะยืนยง Faculty of Medicine, Mahasarakham University
  • ชูศักดิ์ นิธิเกตุกุล Faculty of Medicine, Mahasarakham University

คำสำคัญ:

พยาธิใบไม้ตับ, แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว, การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบกึ่งทดลองครั้งนี้ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวต่อการลดการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มวัยแรงงานตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 พัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ใช้ระยะเวลา 1 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกแบบเจาะจง จากผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข และตัวแทนสมาชิกในครัวเรือนจำนวน 20 คน โดยจัดให้ได้รับกิจกรรมพัฒนาศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มทดลองในระยะที่ 2 คือ ระยะดำเนินการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่ายจากประชากรกลุ่มวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 50 คน ทั้งนี้จัดให้กลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประกอบด้วยการตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิก่อนการทดลอง การอบรมให้ความรู้ การจัดกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเยี่ยมติดตามให้คำแนะนำโดยแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว รวมระยะเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้นดำเนินการติดตามตรวจอุจจาระเพื่อหาไข่พยาธิซ้ำอีกครั้งหลังการทดลองครบ 4 สัปดาห์เก็บรวบรวมข้อมูลก่อน และหลังการทดลองโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมติฐานโดยใช้สถิติ Paired t-test และ Independent t-test

           ผลการวิจัย พบว่าหลังการทดลองกลุ่มแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวมีคะแนนเฉลี่ยด้านความรู้ ด้านการรับรู้ และด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) และสามารถดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มทดลองในระยะที่ 2 ส่งผลให้กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยด้านความรู้ ด้านการรับรู้ และด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนการทดลอง และเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) และอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในกลุ่มวัยแรงงานลดลงต่ำกว่าร้อยละ 5

           ปัจจัยแห่งความสำเร็จของโปรแกรมนี้ เป็นผลมาจากการเสริมสร้างศักยภาพให้กับแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนในครอบครัวโดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและยอมรับอันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีระบบกำกับติดตามในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-24