ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นเลปโตสไปโรซิสในจังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • วัชระบพิตร บังพิมาย Bataka Tambon Health Promotion Hospital
  • พรนภา ศุกรเวทย์ศิริ Faculty of Public Health, Khon Kaen University

คำสำคัญ:

โรคเลปโตสไปโรซิส, ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบ Matched case-control study เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเลปโตสไปโรซิส ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดร้อยเอ็ด  ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2557 กลุ่มผู้ป่วย คือ ผู้ป่วยเลปโตสไปโรซีส จำนวน 62 คน และกลุ่มควบคุม คือ ผู้ที่ไม่ป่วยเป็นโรคเลปโตสไปโรซีส จำนวน 124 คน ซึ่งผู้วิจัยจับคู่กันระหว่างกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มควบคุมที่เป็นเพศเดียวกัน อายุห่างกันมากน้อยไม่เกิน 5 ปี  มีอาชีพและอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนเดียวกัน เก็บข้อมูลด้วยแบบคัดลอกเวชระเบียนและแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลหาปัจจัยที่ความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นเลปโตสไปโรซีสด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจิสติกแบบมีเงื่อนไข (Conditional logistic regression) นำเสนอขนาดความสัมพันธ์ด้วยค่า Adjusted odds ratio (ORadj) และช่วงเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 (95% CI)

          ผลการศึกษาพบว่า  จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรเดี่ยวพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นเลปโตสไปโรซิสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ การไม่สวมใส่ถุงมือยางขณะทำกิจกรรมทางเกษตรกรรม (mOR = 2.08, 95%CI: 1.01 – 4.29) ส่วนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรเชิงพหุพหุลอจิสติกแบบมีเงื่อนไข พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นเลปโตสไปโรซิสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.024) ได้แก่ การไม่สวมใส่รองเท้าบู๊ทขณะทำกิจกรรมทางเกษตรกรรม (mORadj = 2.20, 95%CI: 1.11-4.35)

          จากผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่ไม่สวมรองเท้าบู๊ทขณะทำกิจกรรมทางการเกษตรเป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเลปโตสไปโรซีส ดังนั้นควรให้สุขศึกษากับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้งที่สัมผัสน้ำ ดินโคลนที่เปียกแฉะอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเลปโตสไปโรซีสในชุมชน

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-24