ประสิทธิผลของแบบคัดกรองวัณโรคในผู้สูงอายุ โรงพยาบาลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • วิวรรธน์ มุ่งเขตกลาง The Office of Disease Prevention and Control 7 thKhon Kaen.
  • สมาพร โสภาจิตร์ BanPhai Hospital KhonKaen Province.

คำสำคัญ:

วัณโรค, แบบคัดกรอง, ผู้สูงอายุ ในโรงพยาบาล

บทคัดย่อ

สถานการณ์วัณโรคของประเทศไทยและในพื้นที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น  พบว่าอุบัติการณ์วัณโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ  ฉะนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยง (Risk populations) ที่จำเป็นต้องเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรคแบบเข้มข้น (Intensified case finding: ICF)  การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive study)  เพื่อประเมินประสิทธิผลของแบบคัดกรองวัณโรคในผู้สูงอายุจากค่าความไว  ความจำเพาะ  การทำนายผลบวก  และการทำนายผลลบ  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษาเป็นผู้สูงอายุ (ผู้มารับบริการที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) ที่มารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก  โรงพยาบาลบ้านไผ่  อำเภอบ้านไผ่  จังหวัดขอนแก่น  ระหว่าง เดือน พฤษภาคม ถึง เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2557  จำนวน  200  คน  เก็บข้อมูลโดยแบบคัดกรองวัณโรคในผู้สูงอายุที่สำนักวัณโรคและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งร่วมกันสร้างขึ้น  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา หาค่าความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวกการทำนายผลลบประเมินความถูกต้องในการจำแนกผู้ป่วยวัณโรคของแบบคัดกรองโดยใช้ ROC curve  และวิเคราะห์ความสอดคล้องของแต่ละอาการสงสัยวัณโรคและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการป่วยเป็นวัณโรคด้วย Kappa test

จากการคัดกรองผู้สูงอายุทั้งหมด 200  คน  พบผู้สงสัยป่วยเป็นวัณโรค (ผู้ที่คะแนนรวมของแบบคัดกรองตั้งแต่ 2 คะแนนขึ้นไป) จำนวน 167 คน (ร้อยละ 83.50) และผู้ไม่สงสัยป่วยเป็นวัณโรค (ผู้ที่คะแนนรวมของแบบคัดกรอง ต่ำกว่า 2 คะแนน) จำนวน 33 คน (ร้อยละ 16.50)ในจำนวนผู้สงสัยป่วยเป็นวัณโรค 167 คน  แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 13 คน (ร้อยละ 7.78)  ผลการศึกษาพบว่า ค่าความไวของแบบคัดกรองร้อยละ 100.00 ความจำเพาะร้อยละ 17.65 การทำนายผลบวกร้อยละ 7.78  การทำนายผลลบร้อยละ 100.00 และจากผลการวิเคราะห์โดยใช้ ROC curve พบว่าแบบคัดกรองวัณโรคมีความถูกต้องในการจำแนกผู้ป่วยวัณโรคได้ร้อยละ 95.84 (Area under ROC curve : AUC = 0.9584) อาการสงสัยวัณโรคในแบบคัดกรองวัณโรคในผู้สูงอายุที่มี ความไว ความจำเพาะ การทำนายผลบวก การทำนายผลลบ  และมีความถูกต้องในการจำแนกผู้ป่วยวัณโรควัณโรคสูงสุด คือ น้ำหนักลดผิดปกติซึ่งมีค่าร้อยละ 92.31, 88.24, 35.29, 99.40 และ 90.27 ตามลำดับ  ทั้งอาการน้ำหนักลดผิดปกติก็มีความสอดคล้องของอาการสงสัยวัณโรคต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Kappa = 0.46, p-value <0.001) ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ ค่าดัชนีมวลกาย  เคยอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค  และเคยป่วยเป็นวัณโรค  มีค่าความจำเพาะของการคัดกรองสูง คือ ร้อยละ 94.55, 92.61 และ 93.33 ตามลำดับ  แต่มีค่าระดับความสอดคล้องกับการป่วยเป็นวัณโรคอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  p-value = 0.508, 0.916 และ 0.774 ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ คือโรงพยาบาลต่างๆอาจพิจารณานำแบบคัดกรองวัณโรคในผู้สูงอายุที่ใช้ในการศึกษานี้ไปใช้ได้  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่น้ำหนักลดผิดปกติ  ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือเย็น  เจ็บหน้าอก อาจมีอาการไอหรือไม่มีอาการไอร่วมด้วยก็ตาม ควรรีบตรวจหาวัณโรค  การเข้าถึงรักษาโดยเร็วช่วยลดความรุนแรงของการเกิดโรคป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น  และลดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-24

ฉบับ

บท

บทความวิจัย