การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติด ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
คำสำคัญ:
ภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติด ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด, ทักษะในการหลีกหนีจากยาเสพติด, เจตคติในการรับรู้เกี่ยวกับยาเสพติดบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ ยาเสพติดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และศึกษาประสิทธิผลของการใช้หลักสูตร โดยใช้รูปแบบการวิจัยและพัฒนา แบ่งการวิจัยเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการโดย 1) วิเคราะห์เอกสาร (Document Analysis) และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หลักการ แนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ รวมทั้งรูปแบบลักษณะของการฝึกอบรม 2) การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept Interview) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและความคิดเห็นของรูปแบบการฝึกอบรม 3) การสนทนากลุ่ม (Focus group) กับกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะที่ 2 การทดลองใช้หลักสูตรและการแก้ไขปรับปรุง โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ และระยะที่ 3 การประเมินประสิทธิผลของหลักสูตร โดยใช้แผนการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มเดี่ยวทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชาย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 30 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test) ก่อนการทดลอง หลังการทดลอง และช่วงติดตาม 4 สัปดาห์
ผลการวิจัยพบว่า (1) หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติดของนักเรียน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีลักษณะเป็นหลักสูตรที่พัฒนาจากแนวคิดในการบูรณาการบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกฝ่าย เข้ามาร่วมมือกับโรงเรียน ในการจัดฝึกอบรมให้แก่นักเรียนเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด เจตคติในการรับรู้เกี่ยวกับยาเสพติด และทักษะในการหลีกหนีจากยาเสพติด จนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติดในตัวของนักเรียนที่เข้ารับการฝึกอบรม เนื้อหาของการฝึกอบรม เป็นหน่วยการเรียนรู้ 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยที่ 1 ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด หน่วยที่ 2 องค์ประกอบของยาเสพติด หน่วยที่ 3 การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และหน่วยที่ 4 ทักษะการหลีกหนีจากยาเสพติด โดยใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมต่อเนื่องกัน 2 คืน 3 วัน รวม 24 ชั่วโมง
(2) ประสิทธิผลของการใช้หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นพบว่า 1) นักเรียนมีคะแนนด้านความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากเข้ารับการฝึกอบรมและช่วงติดตามผล 4 สัปดาห์ สูงกว่าก่อนฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 2) นักเรียนมีคะแนนด้านทักษะในการหลีกหนียาเสพติดหลังจากเข้ารับการฝึกอบรมและช่วงติดตามผล 4 สัปดาห์ สูงกว่าก่อนฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
3) นักเรียนมีคะแนนด้านเจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาเสพติดหลังจากเข้ารับการฝึกอบรม และช่วงติดตามผล 4 สัปดาห์สูงกว่าก่อนฝึกอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 4) วิทยากรในการอบรมจะต้องมีความเข้าใจในกระบวนการฝึกอบรม ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ก็จะช่วยทำให้การฝึกอบรมมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะในการนำหลักสูตรไปใช้พบว่า 1) ก่อนการนำหลักสูตรไปใช้ในการฝึกอบรม จำเป็นจะต้องมีการประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ รายละเอียดของหลักสูตรและแผนฝึกอบรม 2) จำนวนของผู้เข้ารับการฝึกอบรม อยู่ระหว่าง 30-40 คน แต่ไม่ควรจะเกิน 40 คนเนื่องจากจะทำให้การฝึกอบรมไม่เกิดประสิทธิผลสูงสุด 3) ระยะเวลาการฝึกอบรมควรใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เนื่องจากต้องการให้ผู้รับการฝึกอบรมมีความต่อเนื่องในการฝึกอบรม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพบว่าหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันการใช้ยาเสพติดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาได้มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น