Publication Ethics

Publication Ethics

จริยธรรมในการตีพิมพ์วารสารวิชาการ การแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (CDEM Journal)

     วารสารการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ นวัตกรรม ที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง เพื่อพัฒนาประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ อย่างถูกต้องเป็นระบบ มีคุณภาพ สามารถตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับมาตรฐานการพิมพ์ระดับชาติและระดับนานาชาติในอนาคตทั้งนี้ กิจกรรมการพิจารณาบทความทั้งหมดต้องดำเนินการผ่านทางระบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์ของวารสาร ภายในระบบเว็บไซต์ Thai Journal Online(ThaiJO) URL : https://www.tci-thaijo.org ซึ่งรับผิดชอบดูแลระบบโดยศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย(Thai-Journal Citation Index Centre; TCI) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(National Electronics and Computer TechnologyCenter; NECTEC) เพื่อให้การทำงานเป็นระบบวารสารของศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล และวารสารมีการจัดเก็บข้อมูลในระยะยาวโดยเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล Thai Journal Online ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวารสารวิชาการอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดี พึงกระทำและมีจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยอย่างเคร่งครัด ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล 3 ส่วน ดังต่อไปนี้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)

1. ผู้นิพนธ์ต้องส่งบทความที่เป็นผลงานใหม่ และรับรองว่าไม่เคยส่งตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน

2. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้นิพนธ์อื่น หรือนำบทความของผู้นิพนธ์อื่นมาเป็นบทความของตน หรือละเมิดลิขสิทธิ์เนื้อหา รูปภาพของบุคคลอื่น

3. ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานของผู้นิพนธ์อื่น หากมีการใช้ผลงานเหล่านั้นในผลงานของผู้นิพนธ์เอง

4. หากผลงานของผู้นิพนธ์ มีการทดลองที่เกี่ยวข้องกับการใช้สัตว์ทดลอง ผู้เข้าร่วม หรืออาสาสมัคร หรือผลงานวิจัยที่มีประเด็นเปราะบางต่อผู้ให้ข้อมูล ผู้นิพนธ์ควรปฏิบัติตามหลักจริยธรรม ข้อบังคับ หรือกฎหมายอย่างเคร่งครัดรวมถึงต้องได้รับความยินยอมก่อนดำเนินงานวิจัยและต้องได้รับหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หรือในสัตว์ทดลองประกอบทุกครั้ง

5. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความหรือผลงานวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดและคำแนะนำของผู้เขียนในวารสารวิชาการการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

6. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนผลงานวิจัยหรือบทความที่เป็นข้อมูลที่แท้จริง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ

7. ผู้นิพนธ์ควรพิจารณาข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินบทความผลงานวิจัยหลังจากได้รับข้อมูลส่งกลับมา และระบุรายละเอียดของการแก้ไข หรือไม่แก้ไข โดยแสดงเหตุผล หลักฐานทางวิชาการตามกำหนดเวลาของวารสารฯ

8. ผู้นิพนธ์ตระหนักถึงข้อความภายในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการการแพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ทั้งหมดรวมถึงรูปภาพประกอบ ตาราง เป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ การนำเนื้อหาข้อความ ข้อคิดเห็น รูปภาพ ตารางของบทความ ไปจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ต้องได้รับอนุญาตจากกองบรรณาธิการวารสารฯอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

9. ผู้นิพนธ์ตระหนักถึงข้อความที่ปรากฎในบทความวารสารเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้นิพนธ์แต่ละท่าน ไม่เกี่ยวข้องกับศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์และบุคลากรแต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้นิพนธ์แต่ละท่านหากมีความไม่ถูกต้องหรือข้อผิดพลาดใดๆ ผู้นิพนธ์แต่ละท่านจะต้องรับผิดชอบบทความของตนเอง ตลอดจนความรับผิดชอบด้านเนื้อหาและตรวจร่างบทความเป็นของผู้นิพนธ์ ไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการ

10. ผู้นิพนธ์ที่ปรากฏชื่อในผลงานวิจัยหรือบทความต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัยจริง

11. ผู้นิพนธ์ต้องมีการใช้ข้อมูลในการเขียนงานวิจัยโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่อาจทำให้เกิดความโน้มเอียงในงานวิจัย ในผลการศึกษา สรุปผล หรือการอภิปรายผล โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมต่อการทำงานวิจัย อาทิเช่น การรับการสนับสนุนงบประมาณ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน ค่าทำวิจัย จากบริษัทเอกชน รวมถึงการได้ผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อการทำงานวิจัยจากบริษัทเอกชน

12. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำผลงานวิจัยนี้ (ถ้ามี)

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)

1. ควบคุม ดูแลเนื้อหาและภาพรวมทั้งหมดของวารสารให้มีความถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำวารสาร

2. ควบคุม ดูแลกระบวนการทำงานของกองบรรณาธิการ และเป็นผู้ตัดสินใจในการรับลงตีพิมพ์บทความต้นฉบับและเลือกสรรบทความต้นฉบับที่จะตีพิมพ์เป็นเล่มวารสาร

3. พิจารณารูปแบบ ความครบถ้วนสมบูรณ์และคุณภาพของบทความ ก่อนเริ่มกระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่รับผิดชอบ

4. ไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ในระหว่างช่วงเวลาการประเมินบทความและการตีพิมพ์วารสารฉบับนั้นๆ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ

5. เป็นผู้ประเมินเบื้องต้นในการตัดสินใจคัดเลือกบทความเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์ และพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากผลการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ

6. ไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่จากที่อื่นมาแล้วทั้งในรูปแบบของวารสาร หรือ บทความหลังการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการฉบับเต็ม (proceeding)

7. ไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความ ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดจนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ข้อสงสัยเหล่านั้น

8. ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ กับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินและทีมผู้บริหาร

9. ตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (plagiarism) ในบทความโดยใช้โปรแกรมที่น่าเชื่อถือได้ และหากมีหลักฐานหรือข้อยืนยันที่ชัดเจนว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น กองบรรณาธิการจะติดต่อผู้นิพนธ์หลักเพื่อขอคำชี้แจงและหากไม่มีข้อชี้แจงตามหลักทางวิชาการกองบรรณาธิการจะปฏิเสธ การตีพิมพ์บทความนั้นๆ

10. มีกองบรรณาธิการอาวุโสเป็นที่ปรึกษาให้กับกองบรรณาธิการในกรณีต่างๆที่กองบรรณาธิการไม่สามารถตัดสินใจได้

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties of Reviewer)

1. บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฯ จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็น ทบทวน และตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ความถูกต้อง เหมาะสมทางวิชาการ จากผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จำนวนอย่างน้อย 2 ท่านต่อบทความ ในรูปแบบพิชญพิจารณ์ (Peer-Reviewed)ก่อนลงตีพิมพ์ และเป็นการประเมินแบบการปกปิดสองทาง (Double Blinded)

2. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ควรให้ข้อมูลต่อบรรณาธิการผู้รับผิดชอบบทความ หากมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง กับงานวิจัย ได้แก่

- ผลประโยชน์ทางการเงิน ในด้านการเงินและงบประมาณ ที่ท่านอาจจะมีรายได้บทความวิจัยที่ส่งเข้ามานี้ หรือมีรายได้ทางอื่นจากบทความวิจัย

- ผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่คาดเดาได้ว่าอาจทราบชื่อผู้นิพนธ์และมีความเกี่ยวข้องกับผู้นิพนธ์ ทางใดทางหนึ่ง หรือเป็นคู่แข่งกัน

- ผลประโยชน์ทางวิชาชีพ ท่านคาดเดาได้ว่าอาจทำงานอยู่ในสถาบันหรือหน่วยงานเดียวกับผู้นิพนธ์ หรือกำลังทำงานร่วมกับผู้นิพนธ์ ในกลุ่มวิจัย ในคลัสเตอร์วิจัยหรือ มีผลงานตีพิมพ์ร่วมกับผู้นิพนธ์ใน 5 ปี ที่ผ่านมา หรือเคยได้รับทุนร่วม/ให้ทุนกับผู้นิพนธ์หากมีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้แจ้งบรรณาธิการ เพื่อยืนยันความโปร่งใสต่อการประเมินบทความ ทั้งนี้การเกี่ยวข้องย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ โดยบรรณาธิการจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นในการยอมรับต่อการประเมินบทความอีกครั้ง

3. หลังจากได้รับผลงานวิจัยหรือบทความแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความผลงานวิจัย จะต้องให้ข้อเสนอแนะ โดย ระบุรายละเอียดของข้อเสนอแนะที่จะให้ผู้นิพนธ์แก้ไขว่าข้อความที่จะต้องแก้ไขอยู่ส่วนใดของผลงานวิจัย และส่งคำแนะนำตามกำหนดเวลาของวารสารฯ

4. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผลงานวิจัยหรือบทความที่ได้รับพิจารณากับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในระยะเวลาของการพิจารณาและจนกว่าผลงานวิจัยหรือบทความจะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่

5. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ควรประเมินผลงานวิจัยหรือบทความในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหา วิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และความเข้มข้นทางวิชาการ ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิงรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

6. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ควรชี้ให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อน รวมทั้งข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในแนวสร้างสรรค์ ปราศจากอคติ ความลำเอียง เจตนาอื่นแอบแฝง หรือ แสวงหาผลประโยชน์จากผลงานวิจัยหรือบทความที่พิจารณา

7. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ หากเห็นว่าผลงานวิจัยหรือบทความที่พิจารณามีคัดลอกผลงานของผู้อื่น (plagiarism)