จริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย

     วารสารสมาคมยึดหลักตามแนวทางของ Committee on Publication Ethics (COPE) ที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 กำหนดบทบาทหน้าที่เพื่อดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย สำหรับนักวิจัยที่เป็นผู้นิพนธ์ (authors) ผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทนิพนธ์ (peer-reviewers) และบรรณาธิการ (editors) ไว้ดังนี้

 

จริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยสำหรับผู้นิพนธ์ (authors)

1. งานวิจัยในมนุษย์ ต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ของสถาบันที่ทำการศึกษานั้น และต้องระบุรหัสโครงการที่ได้รับอนุมัติในบทความ

2. ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลจริงที่ได้จากการศึกษา ต้องไม่มีการปรับแต่ง (falsification) หรือปลอมแปลง (fabrication) และผู้นิพนธ์ต้องเปิดเผยข้อมูลหรือขั้นตอนการวิเคราะห์ให้เห็นได้เมื่อมีข้อสงสัยจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือบรรณาธิการ

3. ผู้นิพนธ์ทุกคนที่มีชื่อ ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาในบทนิพนธ์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ โดยมีการเปิดเผยการมีส่วนร่วมของผู้นิพนธ์แต่ละคน

4. ผู้นิพนธ์ต้องเปิดเผยการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (declare to conflict of interests) ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล (personal) การเงิน(financial) การเมือง (political) การค้า(commercial) หรือการได้รับทุนสนับสนุนจากเอกชนที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดลองในงานวิจัย (pharmaceutical funding support) 

5. บทความต้องไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน หรือแบ่งการตีพิมพ์มากกว่า 1 บทความโดยไม่มีการอ้างอิงถึงกันทั้งหมด (redundant publication) หากผู้นิพนธ์เคยส่งบทคัดย่อไปใช้ในการประชุมวิชาการ (abstract proceeding of meeting) จะต้องเปิดเผยชี้แจงรายละเอียดแก่บรรณาธิการวารสารขณะส่งเอกสารเพื่อขอการตีพิมพ์ (submission) กรณีตีพิมพ์บทนิพนธ์ซ้ำแต่เป็นภาษาต่างภาษาสามารถกระทำได้แต่ต้องเปิดเผยนิพนธ์ต้นฉบับดั้งเดิมให้บรรณาธิการวารสารพิจารณาขณะส่งเอกสารเพื่อขอการตีพิมพ์ (submission) นอกจากนี้ผู้นิพนธ์ต้องเปิดเผยเอกสารอ้างอิงที่ผู้นิพนธ์นำมาใช้ในบทความด้วย

6. ห้ามคัดลอกข้อความ ตาราง หรือรูปภาพของผู้นิพนธ์อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ หรือไม่อ้างอิงเอกสารนิพนธ์ต้นฉบับ (Plagiarism)

 

จริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (editors)

1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ และคัดเลือกเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ

2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

3. บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว

4. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ประเมิน และทีมผู้บริหาร

5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้

6. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุด
กระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคําชี้แจงประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความ

 

จริยธรรมและบทบาทหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (reviewers)

1. ผู้ประเมินบทความ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทั้งหมดของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
(confidentiality)

2. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร และผู้ประเมินบทความตระหนักว่าตัวเองอาจมี
ผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ ผู้ร่วมงาน หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทําให้ไม่สามารถให้ข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

3. ผู้ประเมินบทความ ควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย

4. หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบด้วย

 

การจัดการกับบทนิพนธ์ที่ได้ทำผิดจริยธรรมการตีพิมพ์เผยแพร่ (dealing with misconduct)

1. มีการตรวจสอบหาหลักฐานยืนยันว่ามีการทำผิดจริง พยายามทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าข้อมูลศึกษาเป็นจริงทั้งที่ไม่เป็นความจริง คัดลอกผลงานคนอื่นโดยไม่มีการอ้างอิง

2. การลอกลวงอาจเกิดขึ้นโดยเจตนา หรือไม่เจตนาเช่นสะเพร่า ประมาท ละเลย ดังนั้นแนวปฏิบัติที่ดีต้องซื่อสัตย์ เปิดเผยกระบวนการทั้งหมด ต้องตระหนักแนวทางปฏิบัติทุกข้อ

3. มีการตรวจสอบทั้งผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บรรณาธิการ และสำนักพิมพ์

4. การให้คำแนะนำโดยทำหนังสือแจ้งผู้นิพนธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อค้นพบเกี่ยวกับ misconduct แจ้งเตือนไม่ให้กระทำอีก

5. ปฎิเสธบทนิพนธ์ที่ผิดจริธรรม และจะไม่รับบทนิพนธ์จากบุคคลนั้นเป็นเวลา 1 ปี

6. หากมีการทำผิดจริยธรรมร้ายแรง บรรณาธิการอาจต้องแจ้งต้นสังกัด(นายจ้าง)ของผู้นิพนธ์หรือแพทยสภา เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือทางการปกครองต่อไป

7. บทนิพนธ์หากได้เผยแพร่ไปแล้ว จะทำการถอดถอนบทนิพนธ์นั้น (formal withdrawal or retraction) จากวารสาร และแจ้งบรรณาธิการวารสารอื่นๆ รวมถึงผู้นิพนธ์อื่นๆ